บริษัทตั้งใหม่ ก.ย. 64 ฟื้นตัว มีจำนวน 5,820 ราย เพิ่ม 3% หลังเจอผลกระทบโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ยอดเลิกมีจำนวน 1,503 ราย ลด 4% รวมตั้งใหม่ 9 เดือน 58,056 ราย เพิ่ม 16% เลิก 8,749 ลด 16% คาดไตรมาส 4 ตั้งใหม่เพิ่มแน่ หลังคลายล็อกดาวน์ ฉีดวัคซีนเพิ่ม และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เดือน ก.ย. 2564 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 5,820 ราย เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค. 2564 ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 3% เทียบกับ ก.ย. 2563 มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 13,973.77 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร ที่ติดอันดับ 3 ต่อเนื่องมาแล้ว 5 เดือนติดต่อกัน ตามการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์และการค้าออนไลน์ ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการมีจำนวน 1,503 ราย เทียบกับ ส.ค. 2564 เพิ่ม 28% และเทียบกับ ก.ย. 2563 ลดลง 4% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 5,764.59 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร
สำหรับยอดรวมธุรกิจตั้งใหม่ในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 58,056 ราย เพิ่ม 16% ทุนจดทะเบียน 172,588.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.29% ส่วนธุรกิจเลิกกิจการ 8,749 ราย ลดลง 16% ทุนจดทะเบียน 45,208.20 ล้านบาท ลดลง 5.634%
“สาเหตุที่ทำให้การจดทะเบียนเดือน ก.ย. 2564 เพิ่มขึ้นมาจากการเริ่มคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา มีการเร่งฉีดวัคซีน ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้การจดทะเบียนตั้งใหม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดจดชะลอตัว แต่คาดว่า แนวโน้มการจดทะเบียนในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) จะฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากที่มีการคลายล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น มีการยกเลิกเคอร์ฟิว และมีการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ” นายทศพลกล่าว
นายทศพลกล่าวว่า กรมฯ ได้ทำการวิเคราะห์จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 พบว่ามีหลายธุรกิจที่ตั้งใหม่สอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธุรกิจสร้างแม่ข่าย มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 172 ราย เพิ่มขึ้น 6 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563) และธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 44 ราย เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ที่น่าสนใจก็คือ ธุรกิจปลูกพืชที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่เน้นส่งเสริมให้โรงพยาบาลของรัฐนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรค ควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบัน การปลดล็อกกัญชงให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าการบริโภคสมุนไพรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการที่มองเห็นช่องทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจจึงหันมาจัดตั้งธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น” นายทศพลกล่าว