กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยอียูกำลังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นการใช้มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน กำหนดให้ยื่นข้อคิดเห็นภายใน 18 พ.ย.นี้ ยันจะยื่นข้อกังวลเรื่องความสอดคล้องกับกติกา WTO สุ่มเสี่ยงเลือกปฏิบัติ ผลกระทบการค้า พร้อมย้ำผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ ก่อนบังคับใช้ปี 66 กับ 5 สินค้า
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้สหภาพยุโรป (อียู) ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) โดยกำหนดให้ผู้ที่สนใจ หรือมีข้อกังวลต่อมาตรการสามารถส่งความเห็นได้จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 18 พ.ย. 2564 (เวลาบรัสเซลส์) ซึ่งกรมฯ เองก็อยู่ระหว่างจัดทำความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะข้อกังวลในเรื่องความสอดคล้องกับกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) ความสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้นำเข้ากับผู้ผลิตในอียู และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่การค้าระหว่างสองฝ่าย เป็นต้น และขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการแจ้งความเห็นหรือข้อกังวลต่อมาตรการ CBAM ไปที่อียูภายในเวลาที่กำหนดด้วย
ทั้งนี้ กรมฯ ขอให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไทยไปอียูควรเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรับมาตรการ CBAM ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งรัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกระบวนการผลิตไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้พลังงานทางเลือกที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ ได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเตรียมรับมือในเบื้องต้นแล้ว
สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว อียูกำหนดใช้กับสินค้านำเข้า 5 ชนิด ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อกระตุ้นให้ประเทศผู้ส่งออกเร่งผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมตามที่อียูกำหนด โดยมาตรการ CBAM จะมีผลบังคับใช้ในปี 2566 เริ่มจากในช่วง 3 ปีแรก (2566-2568) ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งข้อมูลปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้าต่ออียู และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ผู้นำเข้าต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM ให้หน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศสมาชิกอียู และมีความเป็นไปได้มากที่หลังจากนั้นอียูจะขยายมาตรการให้ครอบคลุมไปถึงสินค้าประเภทอื่นๆ
ในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าตามรายการที่ครอบคลุมในมาตรการ CBAM ไปยังอียู เป็นมูลค่า 145.08 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 4.25% ของการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยไปสู่โลก ประกอบด้วยเหล็กและเหล็กกล้า 104.46 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 5.03 ของการส่งออกของไทยไปสู่โลก) อะลูมิเนียม 40.62 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 4.58 ของการส่งออกของไทยไปสู่โลก) ส่วนซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า ไทยส่งออกไปอียูในปริมาณที่น้อยมาก หรือไม่มีการส่งออก