รัฐมนตรีต่างประเทศอียูหนุนฝรั่งเศสสุดตัวระหว่างการประชุมในวันจันทร์ (21 ก.ย.) ที่นิวยอร์ก เรื่องที่ออสเตรเลียฉีกสัญญาสั่งซื้อเรือดำน้ำมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์จากปารีส และหันไปทำข้อตกลงกับอเมริกาและอังกฤษแทน ซัดแนวทางไบเดนไม่ต่างจากทรัมป์ ขณะที่ผู้นำแคนเบอร์ราเผยไม่มีแผนประชุมตัวต่อตัวเพื่อสะสางความขุ่นข้องหมองใจกับประธานาธิบดีแดนน้ำหอม
โจเซฟ บอร์เรลล์ ประธานด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวภายหลังการประชุมแบบปิดลับของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศอียู ซึ่งเดินทางมาร่วมการประชุมประจำปีของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป “แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีความสมานฉันท์กับฝรั่งเศส”
เขาบอกว่า การที่สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นการกระทำตรงกันข้ามกับการเรียกร้องให้มีความร่วมมือเพิ่มขึ้นมากๆ กับสหภาพยุโรปในอินโด-แปซิฟิก
ทั้งนี้ สัปดาห์ที่แล้ว ออสเตรเลียยกเลิกคำสั่งซื้อเรือดำน้ำแบบใช้เครื่องยนต์ดีเซลจากฝรั่งเศส และหันไปเลือกการผลิตเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์โดยใช้เทคโนโลยีจากอเมริกาและอังกฤษแทน หลังจากทั้งสามประเทศประกาศโครงการสร้างพันธมิตรทางทหารแห่งใหม่ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า “ออคัส” ซึ่งบอร์เรลล์กล่าวว่า อียูประหลาดใจมากกับคำประกาศนี้
การตัดสินใจของแคนเบอร์ราทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างยิ่ง โดยเมื่อวันจันทร์ ฌอง-ปิแอร์ อีฟส์ เลอ แดรง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ยังคงวิพากษ์วิจารณ์วอชิงตันต่อไปอีก ด้วยการกล่าวหาคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่า ยังคงสานต่อแนวทาง “ทำตามอำเภอใจ คาดเดาไม่ได้ โหดร้ายอำมหิต และไม่เคารพหุ้นส่วนและพันธมิตร” ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
วอชิงตันนั้นพยายามบรรเทาความขุ่นเคืองของปารีสที่เป็นพันธมิตรสำคัญในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) โดยที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง รับปากแล้วว่า จะหารือทางโทรศัพท์กับไบเดนในเร็ววันนี้
เลอ แดรงสำทับว่า พันธมิตรควรบอกกล่าวกัน และไม่ปิดบังซ่อนเร้นยุทธศาสตร์ที่สลับซับซ้อนและมีความแตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่ฝรั่งเศสต้องการคือคำอธิบาย
ด้าน เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ไบเดนน่าจะยืนยันระหว่างการหารือกับมาครงในเร็วๆนี้ ว่าอเมริกายังมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดและเก่าแก่ที่สุด เพื่อรับมือความท้าทายต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่
ในอีกด้านหนึ่ง ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ข้อพิพาทนี้จะส่งผลต่อการเจรจาการค้าอียู-ออสเตรเลียรอบต่อไปในวันที่ 12 เดือนหน้าหรือไม่ โดยในวันจันทร์นั้น บอร์เรลได้พบกับมาริส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ในนิวยอร์กด้วยเช่นกัน
ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป สำทับว่า ความเคลื่อนไหวของออสเตรเลีย อังกฤษ และอเมริกาเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงคำประกาศของคณะบริหารของไบเดนว่า “อเมริกากลับมาแล้ว”
เขายังบอกอีกว่า ถ้าเป้าหมายหลักคือจีน ยิ่งแปลกมากที่อเมริกาไปจับมือกับออสเตรเลียและอังกฤษ ซึ่งทำให้เครือข่ายพันธมิตรข้ามแอตแลนติกอ่อนแอลง
อนึ่ง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกาและอียูมีกำหนดพบกันที่รัฐเพนซิลเวเนียปลายเดือนนี้เพื่อประชุมสภาการค้าและเทคโนโลยีอเมริกา-อียูที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ ซึ่งมิเชลเผยว่า สมาชิกอียูบางประเทศผลักดันให้เลื่อนการประชุมออกไป
ขณะเดียวกัน แม้ไบเดนขอนัดเคลียร์ใจกับมาครง แต่สำหรับนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลีย บอกเมื่อวันอังคาร (21) ว่า ไม่มีแผนประชุมทวิภาคีกับผู้นำฝรั่งเศสระหว่างการประชุมยูเอ็นในสัปดาห์นี้ แต่สำทับว่า อาจมีการหารือในโอกาสต่อไป
มอร์ริสันยังกล่าวถึงการเจรจาการค้ากับอียูว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบรรลุข้อตกลงซึ่งเขาคิดว่า ทุกคนน่าจะเข้าใจดี
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)