xs
xsm
sm
md
lg

“ราช กรุ๊ป” ชูพลังงานทดแทนเน้นโต ตปท. ‘ชูศรี’ CEO ใหม่พร้อมสานพลังร่วมกลุ่ม กฟผ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) บริษัทพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่อันดับต้นของประเทศ ภายใต้การนำของ “ชูศรี เกียรติขจรกุล” ซีอีโอหญิงคนแรกของบริษัท ที่รับไม้ต่อจาก “กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ” ซึ่งได้เกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ บมจ.ราช กรุ๊ป กล่าวยืนยันพร้อมสานต่อภารกิจ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ราช กรุ๊ปด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและขีดความสามารถในการขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากโครงการในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในอนาคต จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเพียง 20% และเน้นการลงทุนพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดรับกระแสโลกที่เน้นพลังงานสะอาด เพื่อให้บรรลุเป้าของประเทศในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์( (Net Zero Emission) ในปี ค.ศ. 2065-2070 รวมทั้งยกระดับด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น

ภารกิจเป้าหมายของบริษัทที่กำหนดให้ปี 2568 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าครบ 10,000 เมกะวัตต์ และมูลค่ากิจการ 200,000 ล้านบาท จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 8,292 เมกะวัตต์ และมูลค่ากิจการ 120,830 ล้านบาท ดังนั้น ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ราช กรุ๊ปยังต้องใช้เงินลงทุนอีกจำนวนมากเพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A)


หากย้อนดูประวัติการทำงานของซีอีโอคนใหม่แล้วนับว่าไม่ใช่คนอื่นคนไกล เมื่อครั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดตั้งบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง (ชื่อเดิมของราช กรุ๊ปในยุคนั้น) เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นำเงินเพิ่มทุนมาซื้อทรัพย์สินโรงไฟฟ้าราชบุรีจาก กฟผ.เมื่อ 21 ปีก่อน “ชูศรี” ก็เป็นหนึ่งในทีมงานที่ร่วมดำเนินการผลักดันจนมี RATCH แข็งแกร่งเช่นทุกวันนี้

ด้วยประสบการณ์การทำงานอยู่ใน กฟผ.มาตลอด 35 ปี จนมาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการการเงินและบัญชี กฟผ. ก่อนได้รับมอบหมายให้มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ราช กรุ๊ป “ชูศรี” มีความเชี่ยวชาญและความสามารถในการบริหารกลยุทธ์ด้านการเงินของ กฟผ. สร้างความมั่นคงและการเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้น นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการอยู่ในบมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ด้วย ทำให้มีความรอบรู้และเข้าใจในธุรกิจผลิตไฟฟ้า การลงทุน และการบริหารจัดการเงินทุนเป็นอย่างดี

นางสาวชูศรีกล่าวเสริมว่า พร้อมนำความรู้และประสบการณ์เข้ามาใช้ในการบริหารการลงทุน การเงิน ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการประสิทธิภาพการใช้งบลงทุน การจัดหาแหล่งเงินทุน หรือเครื่องมือทางการเงินที่มีต้นทุนสมเหตุสมผล เหมาะกับลักษณะของโครงการ ตลอดจนการบริหารจัดการผลตอบแทน หรือรายได้ของกิจการที่ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีกระแสเงินสด ความมั่นคงและแข็งแกร่ง สร้างผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ถือหุ้น


เนื่องจากในสิ้นปี 2564 นี้ ราช กรุ๊ปจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ราว 1,000 เมกะวัตต์ รวมเป็น 9,000 เมกะวัตต์ มาจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินไพตันที่อินโดนีเซีย คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 900 เมกะวัตต์ และเตรียมปิดดีลการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่อินโดนีเซีย และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในไทย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 31,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าไพตันที่อินโดนีเซีย 25,000 ล้านบาท โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่อินโดนีเซีย 1,500 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในไทย 4,500 ล้านบาท

โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท การกู้ยืมสถาบันการเงินเป็นอันดับแรก ส่วนการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทเพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนราว 769.23 ล้านหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม คาดว่าจะได้เงินจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ประมาณ 30,000 ล้านบาท จะต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทฯก่อน

ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ก่อตั้งบริษัทราช กรุ๊ป ยังไม่เคยเพิ่มทุนจดทะเบียนเลยสักครั้ง ดังนั้นจึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการปรับโครงสร้างเงินทุนเพื่อให้บริษัทมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง รองรับการลงทุนโดยเฉพาะพลังงานทดแทนที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตพลังงานทดแทนอยู่ที่ 1,300 เมกะวัตต์ หรือราว 15% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม แต่ในปี 2568 มีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 25% หรือราว 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งราช กรุ๊ปมีแผนจะทบทวนเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตพลังงานทดแทนขึ้นเป็น 35-40% หรือราว 3,500 เมกะวัตต์ในอนาคต ให้สอดรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ที่มีเป้าหมายจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50%


กอปรกับราช กรุ๊ป เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่คิดนอกกรอบ แตกไลน์การทำธุรกิจนอกเหนือจากพลังงานไฟฟ้าและเกี่ยวเนื่อง ไปสู่การลงทุนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเข้าไปร่วมทุนกับพันธมิตรในหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างส่วนของงานโยธาและงานระบบไฟฟ้า แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปบ้างจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองต้องขยายเวลาการก่อสร้างออกไปเกือบปี ทั้งนี้ หากบริษัทดำเนินการก่อสร้างบางสถานีฯ แล้วเสร็จก่อน ก็จะเดินรถไฟฟ้าเป็นบางช่วงไปก่อนเพื่อสร้างรายได้ คาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองจะเปิดให้บริการเดินรถได้สมบูรณ์ในปี 2566 ขณะเดียวกัน ราช กรุ๊ปเองเตรียมดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) โครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรในโครงการระบบเก็บเงินและการจัดการโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ได้มีการลงนามสัญญากับกรมทางหลวงในการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร และโครงการทางหลวงมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงินรวม 39,138 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาราว 3 ปีเพื่อดำเนินการก่อสร้าง หลังจากนั้นจะทยอยรับรู้รายได้

ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างราช กรุ๊ปกับพันธมิตร จึงประกาศเจตนารมณ์พร้อมที่จะเข้าประมูลโครงการอื่นๆ อีก โดยแผนกรมทางหลวง 20 ปีจะมีโครงการมอเตอร์เวย์อีกหลายโครงการ ระยะทางรวม 6,000 กิโลเมตร ที่จะเปิดให้เอกชนลงทุนในรูปแบบ PPP เหมือนเช่น 2 โครงการที่กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ได้ชนะประมูลมา


ล่าสุดบริษัทยังได้รุกสู่ธุรกิจบริการสุขภาพ (Healthcare) ราช กรุ๊ปเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทพริ้นซิเพิล แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 10% ของหุ้นทั้งหมด โดย PRINC มีโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 11 แห่งใน 10 จังหวัดหัวเมืองรอง และมีเครือข่ายปฐมภูมิคลินิกบัตรทอง 13 แห่ง ได้มีเป้าหมายขยายโรงพยาบาลเพิ่มเป็น 20 แห่ง และขยายเครือข่ายปฐมภูมิให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพิ่มเป็น 100 แห่งในปี 2565 ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาจะเข้าร่วมลงทุนเพิ่มเติมแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ในด้านความร่วมมือกับ PRINC ในส่วนโรงพยาบาล 11 แห่ง ทางราช กรุ๊ปมีแผนจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาล (โซลาร์รูฟท็อป) ให้เพื่อช่วยประหยัดรายจ่ายค่าไฟฟ้า และยังสร้างรายได้ที่แน่นอนให้ราชกรุ๊ปด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท บางกอก เชน อินเตอร์เนชั่นแนล (ลาว) จำกัด สัดส่วนการถือหุ้น 9.91% นับเป็นการสยายปีกลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลเครือเกษมราษฎร์ในเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งราชกรุ๊ปมีฐานธุรกิจในลาว โดยบางกอก เชนฯ มีแผนเปิดโรงพยาบาล ขนาดจำนวนเตียง 254 เตียง และ 43 ห้องตรวจ โดยระยะแรกเปิดให้บริการจำนวน 110 เตียง ซึ่งปัจจุบันได้เปิดดำเนินการแล้วและได้รับการตอบรับที่ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาโอกาสการขยายไปยังเมืองอื่นในลาว เช่น หลวงพระบาง จำปาสัก และสุวรรณเขต เป็นต้น

ราช กรุ๊ป ไม่เพียงแค่หยุดลงทุนธุรกิจบริการสุขภาพ แต่ยังมองโอกาสในการลงทุนธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ จนถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพด้วย เนื่องจากโมเดลการลงทุนธุรกิจบริการสุขภาพมีความใกล้เคียงกับธุรกิจผลิตไฟฟ้า กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูงและต้องใช้เวลาในการคืนทุน ที่สำคัญเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในอนาคตซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ที่เข้มแข็งให้กับบริษัทนอกเหนือจากธุรกิจไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลัก

ยังไม่รวมการลงทุนโครงการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดิน โครงการน้ำประปาแสนดิน ใน สปป.ลาว โครงการติดตั้งและพัฒนาเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมและการบริการ Internet of Things (IoT) และโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมดิจิทัลและชุมชนอัจฉริยะ

ดังนั้น บริษัทได้กำหนดเป้าหมายการลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจใหม่ไว้ในแต่ละปีประมาณ 5% ของงบลงทุน พร้อมทั้งเร่งสร้างฐานธุรกิจในต่างประเทศทั้งใน สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นประเทศ ล่าสุด มีการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมร่วมกับพันธมิตรในเวียดนาม 2 โครงการ

นางสาวชูศรีกล่าวว่า กฟผ.ในฐานะบริษัทแม่ได้มีนโยบายที่ต้องการสร้างพลังร่วมระหว่างกลุ่ม กฟผ. ทั้งราช กรุ๊ป และบมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือเอ็กโก กรุ๊ป ในการลงทุนต่างประเทศ โดยจะให้บริษัทลูกจับมือกันลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนในต่างประเทศ หรือหากบริษัทใดยื่นประมูลแข่งขันแล้ว อีกบริษัทจะถอยให้เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกันเองในต่างประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ กฟผ.ผนึกบริษัทลูกร่วมกันลงขันจัดตั้งบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด โดยมี กฟผ. ราช กรุ๊ป และเอ็กโก กรุ๊ป ถือหุ้นสัดส่วน 40, 30, 30 ตามลำดับ เพื่อลงทุนด้านนวัตกรรม ยกระดับงานวิจัยในด้านนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นภายในบริษัทในเครือกลุ่ม กฟผ. และที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ผ่านหน่วยงาน เพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพของธุรกิจ New S-Curve ของอุตสาหกรรมผ่าน 4 หน่วยงานหลักในบริษัท อินโนพาวเวอร์ คือหน่วยงานสนับสนุนแนวคิดธุรกิจใหม่ๆ, หน่วยงานเพื่อการเพาะบ่มธุรกิจ หน่วยงานเพื่อเร่งเติบโตธุรกิจ, หน่วยงานเพื่อการลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ และหน่วยงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงการวิจัยและพัฒนา

เงินลงทุนในช่วง 5 ปีนี้อยู่ที่ 1,184 ล้านบาท กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ พลังงานหมุนเวียน การซื้อขายไฟฟ้า ระบบกักเก็บไฟฟ้า โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และยานยนต์ไฟฟ้า

จากภารกิจเป้าหมายของราช กรุ๊ปภายใต้การนำของซีอีโอคนใหม่ที่มีความรอบรู้ด้านการเงิน และการลงทุน ผนวกกับบริษัทแม่อย่าง กฟผ.เป็นกำลังหนุนที่สำคัญ ทำให้ราช กรุ๊ปพร้อมที่จะสยายปีกการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานและสาธารณูปโภคพื้นฐานในเอเชียแปซิฟิก




กำลังโหลดความคิดเห็น