xs
xsm
sm
md
lg

รบ. เดินหน้าโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด รับนโยบายนายกฯลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย รัฐบาลเดินหน้าโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด รับนโยบายนายกฯลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด

วันนี้ (4 ต.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro Floating Solar Hybrid) เขื่อนสิรินธร ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) ซึ่งเป็นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน มีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 99.26 พร้อมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในเดือนตุลาคม นี้

รัฐบาลมีเป้าหมายขับเคลื่อนพลังงานโดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าแบบไฮบริดนี้ คณะรัฐมนตรี เมื่อ ต.ค. 2562 ได้สนับสนุนงบกลาง วงเงิน 643 ล้านบาท เป็นการดำเนินการร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี วงเงินลงทุน 2,265 ล้านบาท คาดว่า จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 87.53 ล้านหน่วยต่อปี รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดอุบลราชธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เพิ่มขึ้น และทาง กฟผ. ยังเดินหน้าโครงการในพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายกำลังผลิตรวมทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 ด้วย เพื่อเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลดการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเป็นการใช้พื้นที่อ่างเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ครอบคลุมแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) เพื่อขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่มีสัดส่วนของพลังงานสะอาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายใต้เป้าหมายไทยในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) และสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ภายในปี 2065-2070 สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 7 ของสหประชาชาติ ในการประกันการเข้าถึงการบริการด้านพลังงานที่สมัยใหม่ ในราคาที่สามารถหาซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นความสำคัญที่ไทยต้องเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ลดภาวะโลกร้อนและลดปัญหา PM 2.5 ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ มีการผลักดันนโยบายพลังงานของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงการวางเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค สร้างความสมดุลระหว่างขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิตของไทย และการรักษาสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานให้ประเทศ ที่สำคัญ คือ คนไทยมีพลังงานสะอาดใช้ในราคาที่จับต้องได้” นางสาวรัชดา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น