การมาของไวรัสโควิด-19 เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจของโลกกำลังถูก Reset ใหม่อีกครั้งและก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่หากใครปรับตัวไม่ทันอาจต้องล้มทั้งยืนได้ ซึ่งภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงนั้นมี 2 กระแสโลกหลักๆ ที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือ นั่นคือ กระแสนวัตกรรมดิจิทัล และการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกเพื่อการก้าวไปสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนทางธุรกิจ (ESG)
ประเด็นว่าด้วยสิ่งแวดล้อมดูเหมือนจะมาแรงและมาเร็วกว่าที่คิดไว้มาก เนื่องจากทั่วโลกต่างตื่นตัวกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate change) โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีกลับมาให้ความสำคัญต่อภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 100 ปี และนำมาซึ่งการประกาศจุดยืน ‘ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์’ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Net Zero) เพื่อก้าวสู่ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ (Carbon Neutrality) จากนานาชาติทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ขณะที่จีนปักหมุดไว้ในปี ค.ศ. 2060 (พ.ศ. 2590)
ประเทศต่างๆ ปักหมุดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสที่ประเมินว่าจะมีผลต่อสภาพภูมิอากาศโลกและระบบนิเวศให้ก้าวสู่วิกฤต แต่ระดับองค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งต่างประเทศและไทยก็ประกาศจุดยืนถึงแผนดำเนินธุรกิจเพื่อก้าวสู่ Net Zero ที่ส่วนใหญ่มีเป้าในอีก 10-20 ปีข้างหน้าเท่านั้น ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวถนนทุกสายทั้งระดับประเทศ และองค์กรจึงมุ่งสู่ “พลังงานสะอาด” ดังนั้น ในระดับนโยบายภาครัฐ และภาคธุรกิจไทยจึงต้องตั้งการ์ดรับมือกันให้พร้อม
“สุพัฒนพงษ์” ปรับบทบาทพลังงานไทยรับกระแสโลก
กระทรวงพลังงานถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนพลังงานที่จะรับมือกับกติกาโลกและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ได้เห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) ที่คำนึงเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้สอดรับกับทิศทางประเทศมหาอำนาจที่ไทยวางไว้ ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 หรือ พ.ศ. 2608-2613 ซึ่งล่าสุดสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เริ่มคิกออฟเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำแผนดังกล่าวแล้วและคาดว่าจะใช้ได้ภายในปี 2565
“การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติปี 2564 หรือ COP26 เดือน พ.ย. 64 โลกจะมุ่งควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาฯ ภายในปี ค.ศ. 2050 ประเทศทั่วโลกจะออกกติกาต่างๆ มาขับเคลื่อนมากขึ้น ขณะที่ไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 350 ล้านตันต่อปี โดยภาคพลังงานปล่อยสูงสุด 250 ตันต่อปี หากจะต้องลดลงให้เป็นศูนย์จะต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิต รวมถึงไทยจะเจอภาษีคาร์บอนหรือ Carbon Tax ซึ่งคิดเป็นต้นทุนประเทศที่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 6-7 แสนล้านบาทต่อปีหากเราไม่ทำอะไรเลย” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
สำหรับ Carbon Neutrality มีแนวทางสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1. มีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% 2. ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้มีการใช้มากขึ้นตามนโยบาย 30@30 3. ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่า 30% โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ 4. ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงานตามแนวทาง 4D1E (Decarbonization, Digitalization, Decentralization, Deregulation, Electrification)
ทั้งนี้ การก้าวไปสู่ Carbon Neutrality ของไทยตามเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมพลังงานสะอาดที่จะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ เช่น Cloud service, Data center ซึ่งมีการใช้พลังงานมาก และยังตอบโจทย์นักลงทุนที่ได้ประกาศเป้า Net Zero นอกจากนี้ การจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ต้องมีการกักเก็บและดูดซับ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้พื้นที่สีเขียวและภาคการเกษตรของไทย เช่น การขายคาร์บอนเครดิตพลังงานชีวภาพ เป็นต้น โดยเป้าหมายการก้าวสู่ Net Zero มีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าการลงทุนให้แก่ประเทศราว 2 ล้านล้านบาทในอีก 30-40 ปีข้างหน้า พร้อมยังตอบโจทย์สังคมอนาคตที่ใส่ใจความยั่งยืนมากขึ้น
เป้าหมายที่ท้าทายและโจทย์ใหญ่สำหรับไทย
นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่ไทยวางจุดยืน Net Zero ปี ค.ศ. 2065-2070 ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายแล้วสำหรับศักยภาพของไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เพราะการก้าวสู่เป้าหมายดังกล่าวล้วนต้องใส่เม็ดเงินเข้าไปจำนวนมาก ขณะที่การใช้พลังงานของไทยปัจจุบันยังคงต้องพึ่งพิงพลังงานจากฟอสซิลไม่สามารถยกเลิกได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากยังมีราคาที่ต่ำและมีความมั่นคงต่อระบบ แต่จำเป็นที่ไทยต้องดำเนินการตามกติกาของโลก ไม่เช่นนั้นจะได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านจึงต้องอาศัยเวลา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามคือการก้าวไปสู่เป้าหมายลดโลกร้อนจะทำให้เกิดมาตรการต่างๆ ที่เป็นลักษณะการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) เช่นกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ที่กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าของอียูจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้นๆ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าของไทยไปอียูจะต้องปรับการผลิตสินค้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีค่าใช้จ่ายสำหรับขอใบรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งคาดว่าอียูจะบังคับใช้ต้นปี 2566 จากมาตรการดังกล่าวประกอบกับบริษัทแม่ในต่างประเทศที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero จึงผลักดันให้บริษัทในไทยที่เป็นซัปพลายเชนเริ่มหาพลังงานหมุนเวียน (RE) 100% เพื่อการผลิตสินค้ามากขึ้น
“ภาคไฟฟ้านั้น RE คือคำตอบสำหรับพลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ลม โรงไฟฟ้าชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ศักยภาพของไทยที่จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นนั้นมีอยู่แต่ต้องปลดล็อกระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนามากขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนต้องมาจากนโยบายภาครัฐเป็นสำคัญโดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายไฟแบบเสรีที่แท้จริง ปรับปรุงระเบียบว่าด้วยสายส่ง การซื้อขายไฟกันเอง หรือ P2P ซึ่งหากถามว่าอยากให้เกิดเมื่อไหร่ เราเห็นว่าควรจะเกิดตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แต่ก็เข้าใจว่ารัฐต้องดูแลการลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้วย” นายนทีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ได้ส่งเสริมให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตซึ่งจะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มหลักของประเทศ คือ Thailand Carbon Credit Exchange Platform เพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต พร้อมกันนี้ยังจัดตั้ง RE100 Thailand Club เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต และ RE มีสมาชิกทั้งฝั่งผู้ต้องการพลังงานและผู้ผลิตรวมกว่า 500 ราย
เอกชนพร้อมลงทุนหากรัฐเร่งแผนให้เร็วขึ้น
นายวัฒนพงษ์ ทองสร้อย นายกสมาคมการค้าชีวมวลไทย กล่าวว่า นโยบายกระทรวงพลังงานภายใต้แผนพลังงานชาติที่จะต้องนำมาสู่การปรับแผนพลังงานย่อย 5 แผนและแผนต้องตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อนตามเทรนด์ของโลกนั้นทำให้รัฐต้องปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายใต้ PDP2018 rev.1 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564-2573) และเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) ซึ่งภาคเอกชนนั้นมีความพร้อมในการขยายการลงทุนได้ทันทีอยู่แล้ว สะท้อนจากโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ที่มีผู้ยื่นเกินที่รัฐจะรับซื้อ 3-4 เท่า แต่จะมากน้อยเพียงใดสุดท้ายก็อยู่ที่นโยบายภาครัฐ
“ตัวแปรสำคัญคือนโยบายที่รัฐจะกำหนดกติกาออกมาว่าจะเอื้อมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะราคารับซื้อไฟฟ้า และระบบการแข่งขัน โดยส่วนตัวเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดทุกภาคส่วนควรจะได้ประโยชน์ร่วมกันทุกกลุ่มทั้งรายเล็ก รายใหญ่ และชุมชน เช่น กรณีโรงไฟฟ้าชุมชนทำอย่างไรให้ประโยชน์ตกแก่ชุมชนมากที่สุด ซึ่งเห็นว่าเฟสต่อไปของโรงไฟฟ้าชุมชนรัฐควรจะต้องปรับกติกาใหม่ที่ชุมชนได้ประโยชน์มากกว่านี้ เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้ใช้ไฟก็ต้องไม่ใช้ไฟที่มีราคาแพงเกินไป” นายวัฒนพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ การจะลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีมากสุดนั้นไทยยังมีศักยภาพในการปลูกป่าเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตที่เป็นประโยชน์เสริมเข้ามา ควบคู่ไปกับการปลูกไม้โตเร็วที่จะต้องมีการบริหารจัดการตัดและปลูกทดแทน ขณะที่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเห็นว่ามีศักยภาพในขณะนี้ก็มีพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเร่งรัดการรับซื้อเพิ่มได้แต่ก็คงต้องอยู่ที่นโยบายรัฐที่จะกำหนดกติการับซื้อเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ที่สุดไทยควรต้องปรับไปสู่ระบบไฟฟ้าเสรีด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปที่ผู้ผลิตไฟใช้เอง (IPS) มีมากขึ้นโดยเฉพาะจากโซลาร์ฯ บวกแบตเตอรี่กำลังมา ที่สุดไทยหนีไม่พ้น โดยคำว่า เสรี จะต้องมองทั้งเสรีการผลิต และเสรีการจำหน่าย ซึ่งต้องปรับปรุงระเบียบต่างๆ อีกมากในการขับเคลื่อน เป็นต้น
ภาพสะท้อนมุมมองถึงทิศทางพลังงานของไทยในอนาคตจากภาครัฐและเอกชนทำให้เห็นว่ากติกาโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจะเป็นตัวเร่งให้พลังงานของโลกก้าวไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้นเพื่อลดภาวะโลกร้อน ระหว่างทางการเปลี่ยนผ่านกติกาต่างๆ จะมีออกมาอีกมากมาย ทุกฝ่ายจึงต้องปรับตัวรับมือให้ทันท่วงที เพราะนี่คือการเดิมพันครั้งสำคัญของระบบพลังงานไทยที่ต้องพาประเทศก้าวผ่านวิกฤตหลังยุคโควิด-19 ไปให้ได้