กรมทางหลวงเซ็นกลุ่ม BGSR (BTS-กัลฟ์-ซิโน-ไทย-ราชกรุ๊ป) สัญญา 30 ปี O&M มอเตอร์เวย์ 2 สาย กว่า 3.9 หมื่นล้าน ออก NTP เริ่มงาน ธ.ค.นี้ "ศักดิ์สยาม" ลั่นใช้ฟรี 3 เดือนปลายปี 66 คาดชง ครม.ปรับแบบเพิ่มงบ 17 ตอนจบสิ้นปีนี้
วันที่ 29 ก.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 21,329 ล้านบาท และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 17,809 ล้านบาท ระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR 6 และกิจการร่วมค้า BGSR 81 ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH)
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้ดำเนินการหาเอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ในรูปแบบ PPP Gross Cost ระยะสัมปทาน 30 ปี ซึ่งจะใช้ระบบเก็บค่าธรรมเนียมอัตโนมัติไม่มีไม้กั้น ( M-Flow) โดยสายบางปะอิน-นครราชสีมามีทางขึ้นลง 9 จุด (ด่าน) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีทางขึ้นลง 8 จุด (ด่าน)
โดยกรมทางหลวงได้ประสานกับเอกชนในการเร่งรัดงาน ซึ่งมีนโยบายหากการก่อสร้างแล้วเสร็จให้เปิดให้บริการเป็นช่วงๆ โดยทั้งโครงการจะแล้วเสร็จในปลายปี 2566 ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกจะให้ใช้บริการฟรี เนื่องจากเป็นการทดสอบระบบ และจะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมต้นปี 2567 ทั้งนี้ ระบบด่านอัตโนมัติจะมีการติดตั้งกล้อง CCTV ที่ประสิทธิภาพสูงสามารถจับภาพได้ในระยะ 2 กม. เชื่อมกับระบบ AI จึงช่วยในการบริหารจัดการจราจร จัดการด้านความปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และประหยัดงบด้านบุคลากรอีกด้วย
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ปัจจุบันงานโยธาสายบางปะอิน-นครราชสีมาคืบหน้าประมาณ 94% ส่วนตอนที่ปัญหาปรับแบบ จำนวน 17 สัญญา อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข โดยบางสัญญาสามารถบริหารจัดการ โดยใช้งบประมาณเหลือจ่ายของโครงการดำเนินการ โดยตกลงกับสำนักงบประมาณก่อน ส่วนตอนที่เกิดจากผลกระทบจากหน่วยงานอื่น และอยู่นอกเหนือผลศึกษา เช่น ช่วงผ่านเรือนจำคลองไผ่ ลำตะคอง ซึ่งทางเรือนจำขอให้ทำกำแพงครอบช่วงผ่านเรือนจำ จะต้องเสนอ ครม.ขอเพิ่มงบประมาณและประกวดราคาใหม่ ซึ่งคาดจะสามารถได้ข้อยุติในปีนี้ทั้ง 17 ตอน
“จากการวางแผนงานที่ ทล.ร่วมกับเอกชนมั่นใจการก่อสร้างจะดำเนินการได้ไม่ล่าช้าและเปิดได้ในปลายปี 2566 อย่างไรก็ตาม สัญญานี้ได้ระบุว่ากรณี ทล.ส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ตามแผน ทล.จะชดเชยเป็นเวลาก่อสร้างให้ ดังนั้น จะไม่มีค่าโง่เกิดขึ้นแน่นอน”
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้เจรจากับกลุ่ม BGSR เพื่อเตรียมพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ โดยจะออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ประมาณเดือน ธ.ค. 2564 โดยสายบางปะอิน-นครราชสีมาพร้อมส่งมอบพื้นที่ชุดแรกส่วนที่เป็นบริเวณด่านจำนวน 9 ด่าน และส่วนที่เป็นเส้นทาง 21 ตอนที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จากทั้งหมด 40 ตอน ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี พร้อมส่งมอบพื้นที่ชุดแรกจำนวน 8 ด่าน และ 4 ตอนที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จากทั้งหมด 25 ตอน
พร้อมกันนี้ ได้เร่งรัดเอกชนผู้รับงานระบบ O&M ในการดำเนินงานจาก 36 เดือน หรือ 3 ปี ตามสัญญา ให้แล้วเสร็จภายใน 20-24 เดือน เนื่องจากต้องการทยอยเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการได้เร็วที่สุดและเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 2567
โดยรายละเอียดของสัญญาแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น M-Flow ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ ระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสงและระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง อาคารศูนย์ควบคุมและอาคารสำนักงานต่างๆ
และระยะที่ 2 เมื่อเปิดเส้นทางให้บริการ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะทำหน้าที่จัดเก็บค่าผ่านทางและนำส่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดให้แก่กรมทางหลวง บริหารจัดการและควบคุมการจราจร ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนการซ่อมบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมดของโครงการ เป็นระยะเวลา 30 ปีหลังเปิดให้บริการ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับค่าก่อสร้างงานระบบและค่าตอบแทนสำหรับการดำเนินงาน และบำรุงรักษา โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ตามที่กรมทางหลวงกำหนดไว้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีแรกคาดว่ามอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายจะมีค่าก่อสร้างงานโยธาประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท และระบบ O&M ประมาณ 11,000 ล้านบาทซึ่งจะกู้เงินมาดำเนินการในนามกลุ่ม BGSR ขณะที่แหล่งเงินจากส่วนผู้ถือหุ้น (Equity) แบ่งเป็น 2 ช่วง คือในช่วงก่อสร้างสำหรับสายบางปะอิน-นครราชสีมาไว้ที่ 1,000 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรีที่ 850 ล้านบาท และช่วงบริหารโครงการจะเพิ่มทุนในสัดส่วนเท่ากัน
ทั้งนี้ ในการยื่นประมูลเสนอสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ที่วงเงิน 21,329 ล้านบาท สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) วงเงิน 17,809 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าลงทุนและค่าจ้างในการดำเนินงานที่จะได้รับในระยะเวลา 30 ปียอมรับว่าเสนอต่ำกว่าราคากลางค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ขณะที่นโยบายล่าสุดเรื่องด่านไร้ไม้กั้นหรือ M Flow ทั้งขาเข้าและขาออกคาดว่าจะทำให้ช่วยประหยัดต้นทุนในการก่อสร้างด่านและต้นทุนด้านบุคลากรลงได้อีก
“เดิมเราเสนอขาเข้าเป็นระบบอัตโนมัติโดยให้ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางที่ขาออกซึ่งจะมีเจ้าหน้าเก็บเงิน แต่นโยบายให้เป็นอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออกโดยใช้ระบบ AI จัดเก็บค่าผ่านทางทำให้ลดต้นทุนในการก่อสร้างด่านและเจ้าหน้าที่เก็บเงินไปได้อีก”