เป็นเวลากว่า 1 ปีหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2563 อนุมัติผลการคัดเลือกโครงการร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กิโลเมตร ในที่สุดกรมทางหลวง (ทล.) ได้ปักหมุดเตรียมจดปากกาเซ็นสัญญาร่วมทุนกับกลุ่ม BGSR (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS / บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF / บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH วงเงินรวม 39,138 ล้านบาท ในวันที่ 29 ก.ย. 2564
@วางแผนทยอยส่งมอบพื้นที่ 6-7 กลุ่ม
สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้เจรจากับกลุ่ม BGSR เพื่อเตรียมพร้อมในการส่งมอบพื้นที่แล้ว โดยสายบางปะอิน-นครราชสีมาพร้อมส่งมอบพื้นที่ชุดแรก ส่วนที่เป็นบริเวณด่านจำนวน 9 ด่าน และส่วนที่เป็นเส้นทาง 21 ตอนที่ก่อสร้างเสร็จแล้วจากทั้งหมด 40 ตอน โดยจะออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ประมาณเดือน ธ.ค. 2564
ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี พร้อมส่งมอบพื้นที่ชุดแรกจำนวน 8 ด่าน และ 4 ตอนที่ก่อสร้างเสร็จแล้วจากทั้งหมด 25 ตอน โดยวางแผนแบ่งการส่งมอบพื้นที่ให้ดำเนินการติดตั้งระบบ O&M ออกเป็น 6 -7 กลุ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับงานโยธาที่จะทยอยแล้วเสร็จ
ด้านเอกชนผู้รับงานระบบ O&M มีความพร้อมเข้าทำงานมาปีกว่าแล้ว รอแค่เซ็นสัญญา ซึ่งกรมฯ ยังได้เจรจาเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานจาก 30 เดือนตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 20-24 เดือน เนื่องจากต้องการทยอยเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการได้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ สายบางปะอิน-นครราชสีมา กรมฯ ได้เคยเปิดให้บริการมาแล้วช่วงสงกรานต์ปี 2564 จากตอนที่ 24-ตอนที่ 37 จากปากช่อง-สีคิ้ว
แต่เนื่องจากตอนที่ 37 จะมีด่านสีคิ้ว ซึ่งบริเวณด่านมีงานถนนที่เอกชนผู้รับงานระบบ O&M ต้องก่อสร้างดังนั้น กรมฯ จะเจรจาให้กลุ่ม BGSR เร่งก่อสร้างในส่วนนี้ก่อน เพื่อให้ตอนที่ 37 เชื่อมต่อกับตอนที่ 38 ได้ และจะทำให้เชื่อมไปยังด่านขามทะเลสอ บริเวณตอนที่ 39 ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้เส้นทางต่อเชื่อมกันตั้งแต่ตอนที่ 24 ไปจนถึงตอนที่ 40 ซึ่งเป็นปลายทางอย่างสมบูรณ์
กรมฯ จะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาในการเปิดให้ประชาชนได้ใช้เส้นทาง ตั้งแต่ช่วงปากช่อง-สีคิ้ว-ทางเลี่ยงเมืองโคราช (ตอนที่ 24-40) มีระยะทางรวมประมาณ 70 กม. ได้ทันช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 ซึ่งการเปิดใช้เส้นทางในเทศกาลหรือช่วงที่เป็นวันหยุดยาวนั้นจะช่วยลดความแออัดบนถนนมิตรภาพได้เป็นอย่างดี
ส่วนหลังสงกรานต์ปี 2565 ไปแล้วจะเปิดให้ใช้เส้นทางช่วงดังกล่าวอีกหรือไม่นั้นจะมีการพิจารณาอีกครั้ง โดยจะต้องประเมินในแง่ความปลอดภัยและปริมาณการจราจร รวมไปถึงการเปิดให้บริการเส้นทางตอนอื่นๆ ที่งานโยธาทยอยแล้วเสร็จ ขึ้นกับความพร้อมและพิจารณาเรื่องความปลอดภัยในการใช้เส้นทางด้วยเช่นกัน
@มั่นใจเปิดเต็มรูปแบบปลายปี 66
นอกจากนี้ หลังจากที่งานระบบ O&M ได้ดำเนินการผ่านไปประมาณ 1 ปี กรมฯ จะทำการประเมินว่ามีช่วงใดที่ติดตั้งระบบ O&M แล้วเสร็จจนสามารถเปิดให้บริการใด้ ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นการทดลองระบบโดยยังไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมจริง
ปัจจุบันการก่อสร้างสายบางปะอิน-นครราชสีมามีความคืบหน้า 93% โดยวางไทม์ไลน์ว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จทั้งหมด 40 ตอนช่วงกลางปี 2566 ขณะที่งานระบบ O&M จะเสร็จในไตรมาส 3/2566 จะเปิดทดลองใช้เต็มรูปแบบได้ปลายปี 2566
สำหรับสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ก่อนหน้านี้โครงการติดปัญหาเวนคืนทำให้ส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ จนกระทั่งปลายปี 2562 ครม.ได้อนุมัติงบเพิ่ม 12,000 ล้านบาทในการจ่ายค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำให้แก้ปัญหาการก่อสร้างที่หยุดชะงักมา 2 ปีได้เบ็ดเสร็จ ส่งผลให้ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างทำได้เต็มที่ จากเมื่อมี.ค. 2563 ที่มีผลงาน 10% ปัจจุบันผลงานพุ่งไปกว่า 62% แล้ว
ทำให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถขอความร่วมมือผู้รับเหมาเพื่อเร่งรัดการก่อสร้างได้ โดยคาดว่างานโยธาจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2566 และงานระบบ O&M คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จปลายปี 2566 พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2566
@ก่อสร้างสายบางปะอินชะงัก 17 ตอน ปัญหาปรับแบบทำเสียเวลากว่า 1 ปี
นอกจากปัญหาเรื่องเวนคืนของสายบางใหญ่-กาญจนบุรีแล้ว สายบางปะอิน-นครราชสีมาก็เจอปัญหาใหญ่เรื่องต้องปรับแบบก่อสร้างถึง 17 ตอนที่ส่งผลทำให้ต้องมีค่าก่อสร้างเพิ่มราว 6,700 ล้านบาท โดยจะต้องเสนอขออนุมัติจาก ครม.ก่อนจึงจะดำเนินการต่อได้ ทำให้งานก่อสร้าง 17 ตอนต้องหยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2563
ด้าน ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งกรมทางหลวงให้เร่งตรวจสอบสาเหตุการออกแบบที่ไม่ครบถ้วน ไม่เรียบร้อย โดยให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย โดยเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเข้ามาเป็นคนกลางในการตรวจสอบ เพื่อให้การตรวจสอบมีความโปร่งใส และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
“ล่าสุดคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 17 ชุดได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ 17 ตอนเรียบร้อยแล้ว และ ทล.ได้หารือกับกรมบัญชีกลางถึงแนวทางการบริหารสัญญาที่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือตอบกรมฯ เมื่อต้นเดือน ก.ย. และอยู่ระหว่างที่ กรมฯ สรุปข้อมูลรายละเอียดเหตุผลในแต่ละตอนเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินเพิ่ม”
แม้มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมาจะได้รับอนุมัติกรอบค่างานโยธาที่ 70,000 ล้านบาท แบ่งงานเป็น 40 ตอน เปิดประมูลปี 2558 ที่วงเงิน 60,000 ล้านบาท จะเห็นว่ามีกรอบวงเงินเหลือถึง 10,000 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณกำหนดว่างาน 40 ตอน คือ 40 โครงการ ดังนั้นหากตอนไหนต้องมีค่างานเพิ่มก็ต้องเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติ ไม่สามารถเกลี่ยงบเหลือของตอนอื่นมาใช้ได้เพราะมองว่าเป็นคนละโครงการกัน เป็นอีกเงื่อนไขที่ทำให้กรมทางหลวงต้องเสนอ ครม.ขออนุมัติเพิ่มงบก่อนเท่านั้น
สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการปรับแบบ 17 ตอน มาจาก
1. เนื่องจากโครงการมีการออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2551 ทำให้แบบเดิมอาจไม่สอดคล้องกับกายภาพจริงในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้พบว่าบางช่วงเดิมออกแบบเป็นทางระดับดิน แต่พบว่าสภาพพื้นที่เปลี่ยนเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ ทำให้ต้องปรับรูปแบบเป็นสะพาน ซึ่งทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่ม
2. สภาพทางธรณีวิทยาของชั้นโครงสร้างทางดินพบชั้นดินอ่อน ต้องปรับแบบส่วนโครงสร้างฐานราก
3. มีข้อห่วงใยจากประชาชนในพื้นที่เส้นทางตัดผ่านหลังทำการมีส่วนร่วม ทำให้ต้องปรับแก้แบบเพื่อลดผลกระทบ เช่น ทำทางคู่ขนาน, Service Road
4. การปรับแบบที่เกิดจากข้อจำกัดของการใช้พื้นที่ของหน่วยงานอื่นก่อสร้าง ซึ่งต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของเจ้าของพื้นที่ เช่น ผ่านคลองชลประทาน ทำให้ต้องปรับระดับของสะพานและความกว้างของตอม่อ หรือเส้นทางช่วงที่ผ่านเรือนจำคลองไผ่ มีข้อกำหนดระยะทางห่างไม่เกิน 200 เมตร ต้องสร้างรั้วกั้นตลอดแนว เป็นต้น
@ถอดบทเรียน วางแนวปฏิบัติใหม่ ต้องไม่เกิดซ้ำอีก
สราวุธ ทรงศิวิไลกล่าวว่า แม้แต่ละปีกรมทางหลวงจะมีโครงการก่อสร้างหรือซ่อมบำรุงจำนวนมาก แต่ต้องยอมรับว่าโครงการระดับ 6-7 หมื่นล้านบาทอย่างมอเตอร์เวย์สายบางปะอินและสายบางใหญ่เป็นงานใหญ่ที่มีการเปิดแนวเส้นทางใหม่ ที่มีการเวนคืนค่อนข้างมาก อีกทั้งมีเส้นทางยาว ประกอบกับมีการเร่งรัดแผนงาน อาจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่มีการอัปเดตแบบที่ออกไว้ตั้งแต่ปี 2551 จนเป็นที่มาของการปรับแบบ ซึ่งปัญหาที่เกิดในการดำเนินโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 2 สายนี้ กรมฯ ได้นำมาเป็นบทเรียนสำคัญในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ต่อจากนี้ คือ 1. จะต้องศึกษา สำรวจ ออกแบบ ดูผลกระทบให้ครบถ้วนก่อน 2. ต้องดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เรียบร้อย ให้มีความพร้อมมากที่สุด อย่างน้อยควรถึงขั้นตอนขอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนจึงจะเสนอของบประมาณก่อสร้าง และ 3. ก่อนจะเริ่มดำเนินการประมูลโครงการจะต้องลงพื้นที่สำรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่ออัปเดตข้อมูลเพื่อออกแบบให้เกิดความคุ้มค่าและสอดคล้องกับสภาพจริงมากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการปรับแบบก่อสร้างภายหลัง
@ พร้อมลุย PPP มอเตอร์เวย์ 5 โครงการใหม่ 2.65 แสนล้าน เปิดเมืองเชื่อมพื้นที่เศรษฐกิจ
สำหรับแผนโครงการมอเตอร์เวย์ที่อยู่ระหว่างการศึกษาเตรียมเสนอคณะกรรมการ PPP อนุมัติจำนวน 5 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 265,000 ล้านบาท ได้แก่
1. โครงการมอเตอร์เวย์สาย 9 ช่วงวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางปะอิน ระยะทาง 78 กม. วงเงิน 78,000 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับไปบนแนวมอเตอร์เวย์สาย 9 โดยเส้นทางจะมีจุดเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว และสายบางปะอิน-นครราชสีมา
ปัจจุบันกรมฯ ได้สรุปรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ (feasibility study) ผ่านความเห็นชอบกระทรวงคมนาคมแล้ว และเสนอไปที่ สคร.เพื่อเตรียมเสนอบอร์ด PPP
2. โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 28,360 ล้านบาท เริ่มต้นโครงการโดยเชื่อมต่อกับดอนเมืองโทลล์เวย์ในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต ถนนพหลโยธิน กม.33+924 สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน กม.1+800 โดยสามารถเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมาได้
คาดว่าจะศึกษารูปแบบการลงทุนเสร็จในเดือน ต.ค. 2564 จะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ PPP ต่อไป ส่วนรายงาน EIA อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
3. โครงการมอเตอร์เวย์สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18 กม. วงเงิน 37,500 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับคร่อมบนมอเตอร์เวย์สาย 7 สามารถเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช และมีทางเข้า-ออกเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วย ถือเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อช่วยลดความแออัดบนมอเตอร์เวย์สาย 7 และยังจะเป็นโครงข่ายเสริมการเดินทางไปยังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกด้วย
ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารายงาน EIA โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และคาดว่าจะสรุปการศึกษารูปแบบการลงทุน คาดสรุปได้ปลายปี 2564
4. มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงิน 79,006 ล้านบาท โครงการอยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษารูปแบบการลงทุน คาดว่าแล้วเสร็จในต้นปี 2565 ซึ่งบอร์ด PPP เคยอนุมัติโครงการแล้วเมื่อเดือน ก.ค. 2561 แต่เนื่องจากผ่านมานานแล้วจึงให้กรมฯ ทำการทบทวนการศึกษาเพื่ออัปเดตโครงการ ประกอบกับช่วงผ่าน จ.เพชรบุรีมีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวเส้นทาง
มอเตอร์เวย์สายนี้จะเชื่อมต่อจากนครชัยศรีลงสู่ภาคใต้ ดังนั้น ด้านนโยบายต้องการเร่งรัดก่อสร้าง โดยให้แบ่งเฟสช่วงที่ไม่มีปัญหา ไม่มีผลกระทบดำเนินการก่อน คือ จากนครปฐม-ปากท่อ และเร่งหาข้อยุติช่วงปากท่อ-ชะอำ
5. โครงการมอเตอร์เวย์ สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย ระยะทาง 70.43 กม. วงเงิน 42,620 ล้านบาท เริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 4 กม.ที่ 1,242+35 อ.บางกล่ำ จ.สงขลา สิ้นสุดที่ด่านสะเดา 2 โดยมีทางแยกเชื่อมเข้าสนามบินหาดใหญ่ ปัจจุบันออกแบบและศึกษาความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมลงทุนเสร็จแล้ว และล่าสุด กก.วล.เห็นชอบรายงาน EIA แล้ว จึงเป็นโครงการที่มีความพร้อม แต่จะดำเนินการต่อไปต้องเสนอรัฐบาลขอความชัดเจน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปที่ด่านสะเดา ประเทศมาเลเซีย