กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
หลังจากที่กรมทางหลวง ยุบรวมทางหลวงจากแยกไผ่ขวาง จ.สุพรรณบุรี ถึง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กลายเป็นทางหลวงหมายเลข 33 ระยะทาง 297 กิโลเมตร มาตั้งแต่ปี 2556 ก็เริ่มพัฒนาให้เป็นถนน 4 ช่องจราจรตลอดสายมาเรื่อยๆ
หนึ่งในนั้นคือ ช่วงตั้งแต่ถนนสายเอเชีย อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ถึงด่านหินกอง อ.หนองแค จ.สระบุรี กรมทางหลวงได้เริ่มขยายถนนจาก 2 ช่องจราจรสวนทาง เป็นถนนคอนกรีต 4 ช่องจราจร มาตรฐานทางชั้นพิเศษ มาตั้งแต่ปี 2561
ที่ผ่านมา ถนนบางปะหัน-ภาชี เป็นถนน 2 ช่องจราจร มีปริมาณรถยนต์และรถบรรทุกมากต่อเนื่องตามสภาพความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ คันทางเดิมไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้สะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทาง
แต่อีกนัยยะหนึ่ง ขยายเพื่อรองรับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา รถที่มาจากภาคอีสาน สามารถออกด่านหินกอง ไปภาชี นครหลวง บางปะหัน ออกถนนสายเอเชีย มุ่งหน้าสู่ภาคกลางตอนบนได้
ความจริงถนนช่วงนี้มีอยู่ 3-4 โครงการ ได้แก่
1. สะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ กิโลเมตรที่ 21+735 (ทางหลวงหมายเลข 329 เดิม) งบประมาณ 147 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นสัญญา 29 มกราคม 2559 งานแล้วเสร็จ 4 พฤศจิกายน 2562
2. ทางหลวงหมายเลข 33 กิโลเมตรที่ 54+273 ถึง 69+250 ระยะทาง 14.977 กิโลเมตร งบประมาณ 628.76 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท บัญชากิจ จำกัด เริ่มต้นสัญญา 27 กุมภาพันธ์ 2561 ปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ
3. ทางหลวงหมายเลข 33 กิโลเมตรที่ 69+250 ถึง 81+000 ระยะทาง 11.750 กิโลเมตร งบประมาณ 628.99 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท โรจน์สินก่อสร้าง จำกัด เริ่มต้นสัญญา 20 กุมภาพันธ์ 2561 งานแล้วเสร็จ 18 พฤศจิกายน 2563
ก่อนหน้านี้ กรมทางหลวงได้ขยายถนน ช่วงตั้งแต่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 48 เลยสามแยกบางปะหัน ถึงกิโลเมตรที่ 54 ก่อนถึงแยกตึกส้ม เป็นถนนคอนกรีต 4 ช่องจราจร แล้วเสร็จเมื่อประมาณปี 2563
หากถนนก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีเส้นทางจากภาคกลางตอนบนไปยังภาคอีสานอีกเส้นหนึ่ง นอกเหนือจากไปทางลพบุรี โดยไม่ต้องไปถึงตัวเมืองอยุธยาแล้วเข้าถนนโรจนะอีกต่อไป ซึ่งจากถนนสายเอเชีย ไปสระบุรี ระยะทางเพียงแค่ 50 กิโลเมตรเท่านั้น
จากนครสวรรค์ เริ่มต้นจากถนนสายเอเชีย กิโลเมตรที่ 38 ก่อนถึงทางแยกต่างระดับบางปะหัน จะมีป้ายบอกทางระบุว่า “อ.นครหลวง” และมีป้าย “ทางเลี่ยงเทศกาล สระบุรี นครราชสีมา” เลี้ยวซ้ายบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 38
ตรงนี้ถ้าในอนาคตมีการก่อสร้างสะพานข้ามถนนสายเอเชีย เพื่อให้สามารถไปยัง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และแยกไผ่ขวาง จ.สุพรรณบุรี รวมทั้งไป จ.นครสวรรค์ได้ จะดีมาก ไม่ต้องไปกลับรถไกลถึงต่างระดับบางปะหัน ซึ่งห่างออกไป 5 กิโลเมตร
เมื่อเข้ามาแล้วจะเป็นถนนลาดยาง 4 ช่องจราจร ไม่มีเกาะกลาง เริ่มต้นตั้งแต่กิโลเมตรที่ 45 ข้ามแม่น้ำลพบุรี ผ่านสี่แยกไฟแดงวัดนาค ถนนสาย 347 บางปะหัน-เจ้าปลุก เลี้ยวซ้ายไปจังหวัดลพบุรีได้ แต่ถนนค่อนข้างเล็ก
ถึงสามแยกเลี้ยวซ้าย จะเป็นถนนคอนกรีต 4 ช่องจราจรมีเกาะกลาง ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 48 สภาพถนนดีมาก สองข้างทางเป็นทุ่งนา ผ่านโรงงานอายิโนะโมโต๊ะ อยุธยา ทางเข้านิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ถึงสี่แยกไฟแดงตึกส้ม
เดิมถนนช่วงนี้เป็นถนนโลกพระจันทร์ มีสภาพขุรขระเพราะรถบรรทุกใช้เยอะ แถมมีน้ำท่วมบ่อยครั้งจนคันทางทรุดตัว เมื่อยกระดับเป็นทางหลวงแผ่นดินสายประธาน จึงถือโอกาสอัปเกรดเป็นถนนคอนกรีต 4 เลนมาถึงปัจจุบัน
เลยไฟแดงไปแล้ว จะเป็น สะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก ขณะนี้กำลังขยายสะพานออกเป็น 4 ช่องจราจร ถึงฝั่งวัดเทพจันทร์ลอย เป็นถนนคอนกรีต 4 ช่องจราจรอีกครั้ง ผ่านสี่แยกไฟแดงโคกมะลิ ถนนช่วงนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์
จากนั้นจะเข้าสู่สะพานข้ามทางรถไฟ ถึงทางโค้ง แยกทางหลวงหมายเลข 3056 ไปยัง อ.อุทัย และถนนโรจนะ (ต้องไปกลับรถข้างหน้า) ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวอำเภอภาชี ถึงสี่แยกไฟแดงภาชี เลี้ยวขวาเพื่อไปยังหินกองและสระบุรี
ที่อำเภอภาชี จะมีสถานีรถไฟที่เรียกว่า “ชุมทางบ้านภาชี” ซึ่งถัดจากสถานีนี้ ทางรถไฟจะแบ่งออกเป็น 2 สาย ได้แก่ สายเหนือ ไปสถานีลพบุรี และสายอีสาน ไปสถานีสระบุรี แล้วจะแบ่งสายแยกออกมาที่สถานีชุมทางแก่งคอยอีกที
ในอดีต ใครที่เคยนั่งรถไฟชั้น 3 จะมีพ่อค้าหอบไอศกรีมกะทิใส่ถ้วยพร้อมหลอดดูด ขายริมหน้าต่างถ้วยละ 5 บาท ระหว่างที่รถไฟจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร แต่ปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว เพราะเลิกขายตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2561
ตามแผนแม่บทจะมี โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกล เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ช่วงรังสิต-สถานีบ้านภาชี) ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต อีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเกิดขึ้นได้จริงไหม
จากอำเภอภาชีถึงแยกหินกอง 19 กิโลเมตร เดิมเป็นทางหลวงสายบ้านภาชี-หินกอง-นครนายก-อรัญประเทศ เรียกว่า ถนนสุวรรณศร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2493 เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายธะทรง สุวรรณศร อดีตนายช่างกำกับเขตการทางกรุงเทพฯ
ขับไปเรื่อยๆ จะพบกับสี่แยกไฟแดง ถนนเลียบคลองระพีพัฒน์ ซึ่งเป็นคลองที่รับน้ำจากเขื่อนพระราม 6 ลงมา เลี้ยวซ้ายไป อ.ท่าเรือ และ จ.สระบุรี เลี้ยวขวาไป อ.หนองแค และ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ใกล้กันคือวัดสันติวิหาร
จากนั้นจะพบกับ ทางแยกต่างระดับหินกอง มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา จากจุดนี้เลี้ยวซ้ายไปสระบุรี แก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง สีคิ้ว และนครราชสีมา ออกสู่ภาคอีสานตอนบนอย่างขอนแก่น อุดรธานีได้
ค่าผ่านทางจากด่านหินกอง (เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อ) ไปด่านสระบุรี 15 บาท ไปด่านแก่งคอย 35 บาท ไปด่านมวกเหล็ก 65 บาท ไปด่านปากช่อง 100 บาท ไปด่านสีคิ้ว 155 บาท และไปด่านขามทะเลสอ (ออกนครราชสีมา) 195 บาท
ปัจจุบันคืบหน้าไปแล้ว 94% เหลืองานโยธาเพียงบางช่วง คาดว่าจะทดสอบระบบและเปิดให้บริการในปี 2566
ผ่านด่านหินกองไปแล้ว จากถนนคอนกรีตจะกลายเป็นถนนลาดยาง 4 ช่องจราจร ไม่มีเกาะกลางเดิม ผ่านสี่แยกไฟแดงร่องแซง เลี้ยวซ้ายไปบ้านหนองครก เลี้ยวขวาไปหนองปลาหมอ นิคมอุตสาหกรรมเหมราช สระบุรี
จากจุดนี้จะเริ่มเข้าเขตชุมชน ถึงทางแยกต่างระดับหินกอง ถนนพหลโยธิน ไปสระบุรีเลี้ยวซ้าย ไปนครนายกและกรุงเทพฯ ขึ้นสะพาน จากนั้นถ้าจะไปกรุงเทพฯ เลี้ยวขวาอีกที ผ่านหนองแค วังน้อย บางปะอิน นวนคร และรังสิต
ตั้งแต่บางปะหันถึงหินกอง ใช้เวลาประมาณ 45 นาที สภาพถนนโดยส่วนใหญ่ใช้ได้ เสียอย่างเดียว โค้งเยอะ แยกเยอะ เจอไฟแดงเยอะไปหน่อย ประมาณ 5-6 แห่ง ไฟแดงบางแห่งอย่างแยกถนนเลียบคลองระพีพัฒน์ใช้เวลารอนานกว่าที่คิด
โซน อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะหัน อ.นครหลวง อ.ภาชี อ.อุทัย อ.บางปะอิน อ.วังน้อย มีโรงงานอุตสาหกรรมสลับพื้นที่เกษตรกรรม มีนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง สวนอุตสาหกรรม 1 แห่ง และเขตประกอบการอุตสาหกรรม 1 แห่ง
ไม่นับรวมบรรดาท่าเรือตามแม่น้ำป่าสัก ศูนย์กลางของการขนส่งสินค้าทางน้ำในพื้นที่ อ.นครหลวง ที่มีมากถึง 26 แห่ง ขนถ่ายสินค้าทั้งข้าว ปุ๋ย แป้งมัน ถ่านหิน และพืชผลทางการเกษตรต่างๆ จากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี มาทางแม่น้ำเจ้าพระยา
เดิมพื้นที่แห่งนี้นอกจากถนนสายเอเชีย ถนนพหลโยธิน และถนนโรจนะแล้ว ที่เหลือล้วนแล้วแต่เป็นถนนเส้นเล็กๆ แต่ด้วยความเจริญที่เข้ามา รถบรรทุกจำนวนมาก จึงแคบลงถนัดตา ถนนสาย 33 จึงเป็นถนนสายหลักอีกเส้นหนึ่งที่รองรับตรงนี้
อีกไม่นาน หลังมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชเปิดใช้ อาจจะได้เห็นยานพาหนะทยอยใช้ถนนสาย 33 มากขึ้น เพราะเชื่อมระหว่างภาคกลางตอนบน เข้ามอเตอร์เวย์ไปภาคอีสาน หรือตรงไปยังชายแดนไทย-กัมพูชาได้ โดยไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ
อ่านประกอบ : ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 แนวใหม่ “สุพรรณบุรี-อรัญประเทศ”
ถนนสาย 33 “สุพรรณบุรี – อรัญประเทศ” ตอนนี้ไปถึงไหน?