xs
xsm
sm
md
lg

ถนนสาย 33 “สุพรรณบุรี – อรัญประเทศ” ตอนนี้ไปถึงไหน?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


อ่านประกอบ : ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 แนวใหม่ “สุพรรณบุรี-อรัญประเทศ” (15 ม.ค. 2560)

สำนักแผนงาน กรมทางหลวง ได้นำถนนสายสุพรรณบุรี-ป่าโมก-บางปะหัน, ถนนสหรัตนนคร (นครหลวง-บางปะหัน) และถนนนครหลวง-ภาชี มารวมกับถนนสุวรรณศร

กลายเป็นทางหลวงหมายเลข 33 ซึ่งเป็น “ทางหลวงสายประธาน” และกำหนดหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่ทางแยกต่างระดับไผ่ขวาง จ.สุพรรณบุรี ระยะทางรวม 300 กิโลเมตร ไปตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2556

เป็นที่ทราบกันดีว่า ถนนสุวรรณศร เป็นโครงข่ายทางหลวงสายหลัก เชื่อมโยงพื้นที่ภาคกลาง กับพื้นที่ชายแดนด้านตะวันออก รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงข่ายทางหลวงเอเชีย (AH1) เชื่อมต่อประเทศกัมพูชาที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

ดูเหมือนว่า การพัฒนาเส้นทางสายนี้ ให้เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ตามมาตรฐานทางระหว่างประเทศ พบว่าได้มีการก่อสร้างตามลำดับ ได้แก่

1. ก่อสร้างชั้นทางพิเศษ 4 ช่องจราจร ช่วง บางปะหัน - โคกแดง จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 5.9 กิโลเมตร งบประมาณ 234.02 ล้านบาท ศูนย์สร้างทางกาญจนบุรีเป็นผู้ก่อสร้าง สิ้นสุดสัญญา 30 กันยายน 2561

2. ก่อสร้างชั้นทางพิเศษ 4 ช่องจราจร ช่วง บ้านภาชี ถึง บ้านหินกอง ระยะทาง 26.727 กิโลเมตร งบประมาณ 1,257.75 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน

ได้แก่ ตอน 1 บริษัท บัญชากิจ จำกัด เป็นผู้รับเหมา สิ้นสุดสัญญา 13 ตุลาคม 2563 ส่วนตอน 2 บริษัท โรจน์สินก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับเหมา สิ้นสุดสัญญา 6 ตุลาคม 2563
ภาพ : แขวงทางหลวงปราจีนบุรี
ส่วนอีกโครงการหนึ่งที่กำลังก่อสร้าง ทดแทนทางหลวงสายเดิม คือ ถนนสุวรรณศร (แนวใหม่) สาย ปราจีนบุรี - อ.กบินทร์บุรี ตอน แยกหนองชะอม ถึง อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ระยะทาง 28.852 กิโลเมตร

เหตุผลที่ก่อสร้างถนนแนวใหม่ แทนการขยายถนน เนื่องจากถนนเดิมเป็นทางสายอนุรักษ์ต้นไม้ มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่ในเขตทางจำนวนมาก รวมถึงมีไม้หวงห้ามอยู่ประชิดคันทาง จึงเกิดสภาพคอขวดขึ้น

แนวเส้นทางใหม่เริ่มต้นที่หลัก กม. 146+711.452 ต.ปากพลี อ.ปากพลี จ.นครนายก ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านถนนสาย 319 (ปราจีนบุรี - พนมสารคาม), ถนนปราจีนธานี แล้วบรรจบกับถนนสายเดิมที่ อ.ประจันตคาม

กรมทางหลวงได้ว่าจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจสินเลิศ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ตอน งบประมาณรวม 1,100.12 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญา 8 มีนาคม 2563 แต่อุปสรรคสำคัญ คือ ติดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ส่วนถนนสุวรรณศร สายเดิม ก็มีแผนที่จะก่อสร้าง ตอน แยกหนองชะอม - แยกห้วยขื่อ ระยะทาง 25 กิโลเมตร งบประมาณ 900 ล้านบาท เข้าแผนกรมทางหลวงในช่วงปีงบประมาณ 2564-2566

ที่น่าสังเกตก็คือ นอกจากถนนสุวรรณศรแล้ว ยังมีโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 319 (ปราจีนบุรี – พนมสารคาม) ตอน บ้านหนองชะอม - อ.ศรีมโหสถ ระยะทาง 26.738 กิโลเมตร งบประมาณ 869.44 ล้านบาท

แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน โดย 2 ตอนแรก ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาตรศรีจักรกล เป็นผู้รับเหมา ส่วนตอนที่ 3 ห้างหุ้นส่วนจำกัด กองมณีก่อสร้าง เป็นผู้รับเหมา สิ้นสุดสัญญา 18 พฤษภาคม 2563

ส่วนช่วง อ.ศรีมโหสถ ถึง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 13.100 กิโลเมตร ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 304 (ฉะเชิงเทรา - กบินทร์บุรี) งบประมาณ 950 ล้านบาท เข้าแผนกรมทางหลวงในช่วงปีงบประมาณ 2562-2564

หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จากแยกหนองชะอม ระหว่างนครนายก - ปราจีนบุรี ไปยัง อ.พนมสารคาม มีทางหลวงหมายเลข 331 (ถนนสายยุทธศาสตร์) ไป อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และท่าอากาศยานอู่ตะเภา มุ่งหน้าสู่ จ.ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาพ : กรมทางหลวง
ส่วนอีกโครงการหนึ่งที่กรมทางหลวงกำลังดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 33 บ้านหนองเอี่ยน – สตึงบท อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ระยะทางรวม 4.7 กิโลเมตร งบประมาณ 670 ล้านบาท

โครงการนี้สืบเนื่องมาจากการค้าชายแดนที่จุดผ่านแดนบ้านคลองลึกตลาดโรงเกลือ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ไทยและกัมพูชาก็เลยเห็นตรงกันว่า ควรเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ เพื่อแยกคนกับแยกสินค้าออกจากกัน

โดยไทยได้เลือกชายแดนบ้านหนองเอี่ยน ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ ตรงกับบ้านสตึงบท ต.ปอยเปต อ.โอโจรว จ.บันเตียเมียนเจย ทำเป็นจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ โดยก่อสร้างเป็นถนน 4 เลน และสะพานข้ามห้วยพรมโหดไปยังฝั่งกัมพูชา

จุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก ไปทางทิศใต้ประมาณ 11 กิโลเมตร ถนนสายอรัญประเทศ – บ้านโคกสะแบง ซึ่งจะมีถนนสายใหม่ไปทะลุถนนสุวรรณศรที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ระยะทาง 29.925 กิโลเมตร

กรมทางหลวงได้ให้กรมการทหารช่าง กองทัพบก เป็นผู้ก่อสร้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ความมั่นคง ลงนามบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ขณะนี้มีความคืบหน้า 52 % คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2561

เมื่อจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่แล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาความหนาแน่นจากการขนส่งสินค้า แยกจากนักท่องเที่ยวที่ด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก ตลาดโรงเกลือ

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ภายในสิ้นปี 2563 จากภาคกลาง จ.สุพรรณบุรี หรือภาคเหนือ จากถนนสายเอเชีย จะไปชายแดนกัมพูชาที่ อ.อรัญประเทศ ก็ออกซ้ายที่บางปะหัน แล้วต่อไปยังหินกองได้เลย

ในอนาคต ถ้าถนนสายปราจีนบุรี - พนมสารคาม เป็นถนน 4 ช่องจราจร จะกลายเป็นเส้นทางสายใหม่ ไปยังภาคตะวันออก โซนสัตหีบ อู่ตะเภา ระยอง จันทบุรี ตราด โดยไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ และชลบุรีอีกต่อไป

ขอเพียงแต่ว่า ไม่อยากให้ถนนสายนี้พังเร็ว เพราะพื้นที่ปราจีนบุรี โดยเฉพาะกบินทร์บุรี เป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรม รถบรรทุกใช้ถนนกันโหดมาก เอาแค่ถนนสายสุวรรณศร หรือถนนสาย 304 ฉะเชิงเทรา - กบินทร์บุรี ก็ถนนพัง ต้องซ่อมบ่อยครั้งมากพออยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น