xs
xsm
sm
md
lg

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 แนวใหม่ “สุพรรณบุรี-อรัญประเทศ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

สะพานข้ามแยกไผ่ขวาง จ.สุพรรณบุรี จุดเริ่มต้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2560)
ระหว่างออกจาก จ.สุพรรณบุรี บนสะพานทางแยกต่างระดับไผ่ขวาง ที่มุ่งหน้าเข้าสู่ถนนสายสุพรรณบุรี-ป่าโมก จากเดิมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 329 วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33

ด้วยความสงสัย จึงเข้าไปค้นหาในระบบสารสนเทศโครงข่ายทางหลวง กรมทางหลวง พบว่าได้กำหนดให้ทางหลวงหมายเลข 33 มีจุดเริ่มต้นจาก จ.สุพรรณบุรี ไปยัง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ระยะทาง 299.549 กิโลเมตร

โดยพบว่า เป็นการนำถนนสายสุพรรณบุรี-ป่าโมก-บางปะหัน, ถนนสหรัตนนคร (นครหลวง-บางปะหัน) และถนนนครหลวง-ภาชี มารวมกันกับถนนสุวรรณศร ช่วงทางแยกต่างระดับหินกอง ถึงอรัญประเทศ (เขตแดนไทย/กัมพูชา)

และเมื่อค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 329 ตอน นาคู - สุพรรณบุรี ได้รับการแก้ไขจากสำนักแผนงาน กรมทางหลวง เป็น ทางหลวงหมายเลข 330100 ตอน สุพรรณบุรี - นาคู ระหว่าง กม.0+000 - กม.12+346 แล้ว ตามหนังสือสำนักแผนงาน ที่ สผ.1.7/1437 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2556

ย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ทางหลวงสายบ้านภาชี-หินกอง-นครนายก-อรัญประเทศ ให้ขนานนามว่า "ถนนสุวรรณศร" เพื่อเป็นเกียรติแก่นายธะทรง สุวรรณศร อดีตนายช่างกำกับการเขตการทางกรุงเทพฯ

ต่อมาได้มีการกำหนดรหัสสายทาง โดยให้ถนนสุวรรณศร ช่วงหินกองถึงถึงอรัญประเทศ (เขตแดนไทย/กัมพูชา) เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 ระยะทาง 210 กิโลเมตร
ภาพจาก Google Street View สิงหาคม 2557 ถนนสุวรรณศร หลักกิโลเมตรที่ 90 ที่หน้าร้านสระบุรีโฮมมาร์ท อ.หนองแค จ.สระบุรี
ส่วนถนนสุวรรณศร ช่วงหินกองถึงทางแยกภาชี ถูกกำหนดให้เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 329 แบ่งเป็น ช่วงถนนพหลโยธิน บริเวณแยกหินกอง - ภาชี - นครหลวง – บางปะหัน และช่วง จ.สุพรรณบุรี - ป่าโมก – ถนนสายเอเชีย

แต่การควบรวมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 329 ให้กลายเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 อาจมีนัยยะที่สำคัญ คือ เปลี่ยนจากทางหลวงแผ่นดินรหัสสามหลัก กลายเป็นสองหลัก

ย่อมหมายถึง เปลี่ยนจาก “ทางหลวงสายรองประธาน” ให้เป็น “ทางหลวงสายประธาน” ที่มีความสำคัญด้านการคมนาคมและทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นไปอีก

หากไม่นับความเจริญที่นายบรรหาร ศิลปะอาชา เคยสร้างไว้ให้ในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี โดยสะพานทางแยกต่างระดับไผ่ขวาง ที่ก่อสร้างในช่วงปี พ.ศ. 2543 สุพรรณบุรีถือเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันตก

โดยเฉพาะถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี และ ถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท ที่รับรถมาจากจังหวัดภาคเหนือ ไปตามถนนพหลโยธิน ที่ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์, ถนนมาลัยแมน ที่มุ่งหน้าไปยัง จ.นครปฐม ออกถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าสู่ภาคใต้

ส่วนที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 20 กิโลเมตร ก็มีถนนสายอู่ทอง-บ้านไร่-อุทัยธานี ออกถนนสายเอเชีย ระยะทาง 182 กิโลเมตร ซึ่งที่ อ.บ้านไร่ มีเส้นทางเลี่ยงช่วงเทศกาลต่อไปยัง อ.ลานสัก จ.กำแพงเพชร

เลยลงมาจะถึงสามแยกจรเข้สามพัน ก็มีถนนสายกาญจนบุรี-พนมทวน-อู่ทอง ระยะทาง 51 กิโลเมตร ซึ่งในอนาคต จ.กาญจนบุรีจะเป็นเมืองยุทธศาสตร์เชื่อมต่อไปยังโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย สหภาพเมียนมา
ภาพจาก Google Street View สิงหาคม 2557 ถนนสุวรรณศร หลักกิโลเมตรที่ 304 อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ก่อนถึงพรมแดนไทย-กัมพูชา 500 เมตร
อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณเส้นทางจากชายแดนไทย-เมียนมา บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ไปยังชายแดนไทย-กัมพูชาที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พบว่าระยะทางจะใกล้เคียงกัน ประมาณ 460 กิโลเมตร

ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางผ่าน จ.สุพรรณบุรี เส้นทางผ่านรังสิต หรือจะขึ้นทางด่วนต่อด้วยมอเตอร์เวย์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-7 ชั่วโมง สำคัญตรงที่การเดินทางต้องสะดวก มีถนนกว้างพอที่จะใช้ความเร็วได้ มีจุดตัดหรือทางแยกน้อยที่สุด

หากไปกันที่สถานีขนส่งผู้โดยสารสุพรรณบุรี ก็ถือเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันตก ฝั่งหนึ่งมีรถประจำทางไปกาญจนบุรี ฝั่งหนึ่งมีรถตู้ไป อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ฝั่งหนึ่งมีรถประจำทางไป จ.นครสวรรค์

ฝั่งหนึ่งมีรถตู้ไปพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี แต่ที่น่าสนใจคือ มีรถตู้ไปจนถึง จ.สระบุรี ผ่าน จ.อ่างทอง, อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี, อ.หนองแซง และ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี

อาจเป็นไปได้ว่า การผลักดันถนนสุพรรณบุรี-ป่าโมก ให้กลายเป็นทางหลวงสายประธาน ก็เพื่อรองรับการเชื่อมโยงระหว่างเมียนมากับกัมพูชา เหมือนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 แม่สอด-มุกดาหาร ที่เชื่อมโยงระหว่างลาวกับเมียนมา

ในอนาคต ทางหลวงสายนี้จะเป็นทางผ่านโครงการทางพิเศษเข้าสู่กรุงเทพฯ 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการทางด่วนสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา-บางปะหัน ระยะทาง 36 กิโลเมตร เข้าเมืองชั้นในด้านถนนแจ้งวัฒนะ

และโครงการทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104 กิโลเมตร มีทางขึ้น-ลงถนนสุวรรณศร ที่ อ.บ้านนา จ.นครนายก เข้าเมืองชั้นในด้านถนนกาญจนภิเษกฝั่งตะวันออก และถนนรามอินทรา
ภาพจาก Google Street View มกราคม 2557 สี่แยกกบินทร์บุรี ที่ยังเป็นสี่แยกไฟแดง ยังไม่มีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก
แม้จะยกระดับเป็นทางหลวงสายประธาน แต่เมื่อดูสภาพเส้นทางจาก Google Street View แล้ว พบว่าแม้หลายช่วงจะพัฒนาเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรแล้ว แต่ก็พบว่ามีบางช่วงที่ถนนยังเป็นขนาด 2 ช่องจราจร

ได้แก่ ช่วงที่ลงจากสะพานป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง, ช่วง อ.บางปะหัน ถึง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา (รวมสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก) ช่วงดังกล่าวมักจะมีรถบรรทุกวิ่งผ่านเป็นประจำ เพราะอยู่ในย่านอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ช่วงบ้านภาชี-บางปะหัน งบประมาณ 147 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญาเดือนมกราคม 2561 แต่พบว่าติดปัญหารูปแบบสะพานกระทบกับโครงการรถไฟความเร็วสูง

ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีจุดตัดอีกมากมายที่เห็นควรว่าจะต้องสร้างสะพานข้ามแยกเพิ่ม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการคมนาคม เช่น ช่วงที่ผ่านถนนสายเอเชีย ยังคงบังคับให้รถทุกคันเลี้ยวซ้ายแล้วไปกลับรถข้างหน้า

หรือจะเป็นบริเวณสี่แยกกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ตัดกับถนนสาย 304 ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี และ กบินทร์บุรี-ปักธงชัย ไปยังภาคอีสาน ที่ยังเป็นสัญญาณไฟแดง โดยที่ในขณะนี้ยังไม่มีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ถนนในบางช่วงยังตัดผ่านพื้นที่ชุมชน การขยายถนนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ครั้นจะแก้ปัญหาด้วยการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเฉกเช่นจังหวัดอื่น ๆ ก็จะกระทบในเรื่องการเวนคืนที่ดิน และค่าก่อสร้างที่สูงขึ้น

เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางพัฒนาทางหลวงแนวใหม่ สุพรรณบุรี-อรัญประเทศ เพื่อเป็นอีกทางเลือกเชื่อมโยงระหว่างชายแดนตะวันตกและตะวันออก ตามการขยายตัวของความเจริญที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น