xs
xsm
sm
md
lg

คจร.ไฟเขียวผุด “มินิบัสไฟฟ้า” เชื่อมสถานีรังสิตรถไฟสีแดง-เคาะ MR-Map ลงทุนนำร่อง 4 เส้นทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คจร.เห็นชอบฟีดเดอร์ 3 เส้นทางเชื่อมสถานีรังสิต สายสีแดง ผุดมินิบัสไฟฟ้า มอบ ขบ.เร่งหาผู้ประกอบการ นำร่อง “รังสิต-ธัญบุรีคลอง 7” พร้อมปรับถนนทำช่องทางพิเศษ ดึงคนใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่ม ไฟเขียว MR-Map สร้างโครงข่ายรถไฟคู่มอเตอร์เวย์ และรับทราบเปิดใช้ด่านไร้ไม้กั้น (M-Flow)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2564 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 20 ก.ย.ได้เห็นชอบในหลักการการจัดทำระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีรังสิต) หรือ Feeder รถไฟฟ้าสายสีแดง โดยใช้รถโดยสารขนส่งมวลชนแบบพิเศษ ตามมติคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก จ.ปทุมธานี (อจร.จังหวัดปทุมธานี) และคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยให้ จ.ปทุมธานี กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการพัฒนาเพื่อรองรับการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต

ทั้งนี้ Feeder เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้ารังสิต (สายสีแดง) มีจำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต-ธัญบุรีคลอง 7 ใช้เส้นทางถนนรังสิต-นครนายก (ทล.305) ระยะทางประมาณ 19.3 กม. เส้นทางที่ 2 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ใช้เส้นทางถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนคลองหลวงหน้า ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ระยะทางประมาณ 19.1 กม. (ในระยะแรก) เส้นทางที่ 3 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต-แยก คปอ. ใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน ระยะทางประมาณ 10.6 กม.
สำหรับรูปแบบการเดินรถ Feeder จะกำหนดตามตารางเดินรถที่สอดคล้องกับระบบรถไฟฟ้า (On Schedule Services) รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport) และรองรับการให้บริการแก่ทุกคน (Inclusive Transport) และให้ ขบ.ดำเนินการหาผู้ประกอบการเดินรถด้วยมาตรฐาน EV รองรับผู้พิการ โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และนำเข้าสู่การพิจารณาของ คกก. ขนส่งทางบกกลางต่อไป

และให้จังหวัดปทุมธานีและกรมทางหลวงดำเนินการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 บนถนน ทล.305 ได้แก่ (ก) Smart Bus Stop (ข) ทางเชื่อมสะพานลอยคนข้ามที่เกาะกลาง (ค) ช่องทางพิเศษ (Reversible Bus Lane) และ (ง) สัญญาณไฟควบคุมช่องทางพิเศษ เส้นทางที่ 2 และ 3 บนถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนพหลโยธิน ได้แก่ Smart Bus Stop
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อช่วยพัฒนาระบบคมนาคม และแก้ไขปัญหาการขนส่งและจราจรให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินงาน สามารถขับเคลื่อนแผนต่างๆ ให้ได้ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สถานีรังสิตเป็นสถานีใหญ่ เนื่องจากเป็นชุมทาง (Gateway) ที่จะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีระบบขนส่งมวลชนเชื่อมการเดินทางพื้นที่โดยรอบเข้าสู่สถานีได้อย่างสะดวก ซึ่งทำระบบรถไฟรางเบา (Light rail) จะลงทุนสูง ดังนั้น สนข.จึงได้ศึกษาปรับแผน ใช้รูปแบบรถโดยสารมินิบัสไฟฟ้าในช่วงแรกเพื่อให้ประชาชนปรับมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเข้าสถานีรังสิต และระยะที่ 2 จะปรับเป็นระบบรถไฟรางเบาเมื่อจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่า

ที่ประชุมมอบหมายให้ ขบ.รับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องและจัดหาผู้ให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าตามขั้นตอน ส่วน จ.ปทุมธานี และ ทล.ให้ร่วมกันตรวจสอบกายภาพของถนนเพื่อปรับปรุงจัดทำช่องทางสิ่งพิเศษ สำหรับรองรับการเปิดบริการเส้นทางแรก สถานีรถไฟฟ้ารังสิต-ธัญบุรีคลอง 7 ให้ทันในเดือน พ.ย. 2564

@ไฟเขียวแผนแม่บท MR-Map นำร่องลงทุน 4 เส้นทาง

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า คจร.ยังเห็นชอบร่างโครงข่ายแผนแม่บท MR-Map ที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ ซึ่งมีโครงข่ายเบื้องต้น 10 เส้นทาง มีระยะทางรวม 6,530 กม. ประกอบด้วยเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ร่วมกับเส้นทางระบบราง 4,470 กม. เส้นทางเฉพาะทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 1,710 กม. และเส้นทางเฉพาะระบบราง 350 กม.

และได้พิจารณา 4 โครงการนำร่องที่มีศักยภาพ ได้แก่ 1. เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 91 กม. 2. เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ระยะทางรวม 283 กม. 3. เส้นทาง MR2 หนองคาย (ด่านหนองคาย) -แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง ระยะทาง 297 กม. และ 4. เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) -อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง 404 กม.
ทั้งนี้ เห็นว่าโครงการเป็นประโยชน์สำหรับการบูรณาการระหว่างระบบรางและถนนในการพัฒนาโครงข่ายให้เป็นระบบเชื่อมโยงโครงข่ายภายในประเทศและต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยและเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจและประตูการค้า แก้ปัญหาจราจร ลดปัญหาการเกิดคอขวดของการเดินทางทั้งระบบถนนและระบบรางของทั้งประเทศ
และเห็นชอบผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Public Transit Master Plan : EPMP) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณาผลักดันแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป

@รับทราบแผนด่านไร้ไม่กั้น ( M-Flow) เริ่มใช้ ต.ค. 64

นอกจากนี้ คจร.ยังได้รับทราบการพัฒนาและดำเนินงานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษทั้งระบบ โดยจะเปิดให้บริการ เดือน ต.ค. 2564 บนเส้นทางมอเตอร์เวย์ M9 จำนวน 4 ด่าน (ด่านทับช้าง1, 2, ด่านธัญบุรี 1, 2) บนทางพิเศษฉลองรัฐ เปิดในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 จำนวน 3 ด่าน (ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 ด่านสุขาภิบาล 5-2) และมอเตอร์เวย์ M7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง ทางพิเศษฉลองรัช ระยะที่ 2 และถนนกาญจนาภิเษก เปิดทดสอบระบบปี 2566










กำลังโหลดความคิดเห็น