รมว.คมนาคม ประชุมติดตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางบางซื่อ – หัวลำโพง และการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษ บริเวณเพลินจิต
วันนี้ (15ก.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามนโยบาย เรื่อง แนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางบางซื่อ – หัวลำโพง ด้วย Application “Zoom” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายประมวลรัตน์ จินณรงค์ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย และรักษาการกรรมการผู้จัดการ/คณะกรรมการบริหารบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ผู้แทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เข้าร่วมการประชุม
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย ส่งผลให้สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทยลดบทบาทลง แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว มีความเป็นมาที่ยาวนาน ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และเข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีแดง (ในอนาคต) ดังนั้น จึงควรนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ดังนี้ 1. สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) : ถึงแม้ในอดีตที่ผ่านมามีการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพง แต่การศึกษายังไม่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้ดำเนินการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน โดยคำนึงถึงการเชื่อมต่อกับรูปแบบการเดินทางอื่นๆ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การใช้พื้นที่สีเขียว การอนุรักษ์คุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวจะมีการนำกรณีศึกษาจากต่างประเทศมาใช้ในการพิจารณาร่วมด้วย ทั้งนี้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด จะเข้าร่วม
การดำเนินการในครั้งนี้ด้วย คาดว่า จะสามารถนำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ได้ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔
2. พื้นที่ริมทางรถไฟ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ - สถานีหัวลำโพง : การรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว ให้มีความชัดเจนเมื่อได้มีการสำรวจรายละเอียดตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง เช่น สายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การเชื่อมต่อสถานีจิตรลดา เป็นต้น คาดว่าจะสามารถนำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ได้ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๔
สำหรับการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษ บริเวณเพลินจิต การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้หารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางการในการบูรณาการให้มีการพัฒนาพื้นที่ที่ต่อเนื่องกัน โดยการปรับให้รูปแบบโครงการให้มีลักษณะที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน คาดว่าจะได้ผลสรุปร่วมกันในเดือนตุลาคม 2565
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยามกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อสั่งการเพิ่มเติม ดังนี้ 1. ให้กำหนดรูปแบบการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่ชัดเจนโดยเร็ว รวมทั้งให้เร่งรัดแผนการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่เดิมกำหนดไว้ในช่วงปี 2568 ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
2. ให้พิจารณานำรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ของภาคเอกชนมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งให้ให้เน้นการพัฒนาพื้นที่แนวดิ่ง 3.ให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีต่างๆ ด้วย โดยกรณีที่เป็นพื้นที่ของภาคเอกชนหรือส่วนราชการอื่น ให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน 4.การให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาสถานีหัวลำโพงให้พิจารณาเปรียบเทียบจนถึงข้อสรุปถึงรูปแบบที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและการรถไฟแห่งประเทศไทย เช่น การเปรียบเทียบระหว่างการให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งแปลง หรือการแบ่งการพัฒนาเป็นแปลงย่อย เป็นต้น 5.สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณใต้ทางด่วนเพลินจิต ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้เอกชนร่วมลงทุน แทนการให้เช่าพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งให้เร่งรัดการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว