รฟท.จ่อประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และโฆษณา “สถานีกลางบางซื่อ” กว่า 5 หมื่น ตร.ม. ลุ้นบอร์ด 29 ก.ย.เคาะทีโออาร์ วางสัญญายาว 20 ปี คาดเริ่มงานต้นปี 65 ส่วนเชิงพาณิชย์ 12 สถานีผูกรวมกับ PPP เดินรถสีแดง
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด รฟท.เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 รฟท.ได้เสนอขออนุมัติออกประกาศเชิญชวนการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ และป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางบางซื่อและสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี ซึ่งบอร์ดยังไม่อนุมัติ เนื่องจากรายละเอียดข้อมูลยังไม่ครบถ้วน จึงให้ รฟท.ไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมและเสนอให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้งในการประชุมวันที่ 29 ก.ย. นี้
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า บอร์ด รฟท.ยังมีข้อสังเกต เนื่องจากเอกสารประกอบร่างทีโออาร์ที่นำเสนอที่ประชุมบอร์ดยังไม่ครบถ้วน ดังนั้น รฟท.จะรวบรวมเพื่อนำเสนอบอร์ดขออนุมัติเปิดประมูลในการประชุมครั้งต่อไป
หลังจากบอร์ด รฟท.อนุมัติร่างทีโออาร์จะเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศประกวดราคา ส่วนของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และป้ายโฆษณาที่สถานีกลางบางซื่อ โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน คาดว่าจะได้ตัวเอกชนและเข้าเริ่มดำเนินการในต้นปี 2565 โดยจะมอบให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ดูแลบริหารสัญญา
“หลังลงนามสัญญาจะให้เวลาเอกชนในการเตรียมแผนงาน เช่น เจรจากับสินค้าต่างๆ และเข้าตกแต่งพื้นที่ ดังนั้นจะกำหนดแผนการให้บริการเป็นระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้บริการและประเมินการปรับใช้พื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อที่ยังคงใช้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนด้วย โดยในเฟสแรกจะเป็นบริการเชิงพาณิชย์จำหน่ายน้ำ อาหาร สินค้าที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้บริการ ส่วนเฟสต่อไปจะเป็นรูปแบบคล้ายกับการพัฒนาพื้นที่สนามบินเป็นชอปปิ้งมอลล์ มีสินค้าหลากหลายรวมไปถึงสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ”
ส่วนช่วงปลายเดือน พ.ย. 2564 ที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการนั้น หากการคัดเลือกเอกชนยังไม่แล้วเสร็จ รฟท.จะให้บริการภายในสถานีกลางบางซื่อเองในระยะสั้นไปก่อน โดยได้จัดบริการขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชน เช่น มีตู้คีออสก์ (เครื่องให้บริการอัตโนมัติ) จำหน่ายเครื่องดื่ม อาหาร ซึ่งคาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารของสายสีแดงจะยังไม่มากนัก รวมถึงขบวนรถไฟทางไกลที่จะปรับไปให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อแทนสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ทั้งนี้ จากผลการศึกษาจะมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ โดยแบ่งเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาพัฒนาเชิงพาณิชย์พื้นที่ 52,375 ตารางเมตร และสัญญาพัฒนาพื้นที่โฆษณา 2,303 ตารางเมตร ระยะเวลาสัญญา 20 ปี
ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 12 สถานีของรถไฟสายสีแดงนั้น มีแนวคิดว่าจะนำไปรวมอยู่ในการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) บริหารการเดินรถไฟสายสีแดง ซึ่งนอกจากจะมีความคุ้มค่าและจูงใจเอกชนแล้ว จะมีผลดีในด้านการบริหารการเดินรถมากกว่าการแยกสัญญาบริหารการเดินรถไฟสายสีแดงกับ การบริหารพื้นที่สถานีออกจากกัน ดังนั้น ในช่วงที่รอเรื่องการศึกษา PPP เดินรถสายสีแดง รฟท.จะเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ 12 สถานีเองก่อน โดยจะจัดบริการพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้โดยสารให้อย่างเพียงพอ
ยอมรับว่าเรื่อง PPP เดินรถไฟสายสีแดงนั้นจะต้องมีการพิจารณาในหลายประเด็น โดยจะต้องรวมการลงทุนงานโยธาสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางที่ รฟท.จะดำเนินการก่อสร้างไปก่อน อย่างไรก็ตาม หากในการเปิด PPP แล้วไม่มีเอกชนสนใจ รฟท.จะสามารถบริหารจัดการรถไฟสายสีแดงทั้งหมดเองได้ โดยไม่ต้องเสียเวลา หรือเสียโอกาสแต่อย่างใด
นายนิรุฒกล่าวว่า รฟท.มีแผนบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ทั้งในด้านเชิงพาณิชย์ การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ และด้านความปลอดภัย โดยได้ร่วมกับตำรวจรถไฟในการจัดระเบียบพื้นที่ต่างๆ และมีการทำความเข้าใจกับผู้ค้าที่เข้าไปขายของให้รับทราบถึงแนวทางการบริหารพื้นที่แล้ว นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้ประสานกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เข้ามาช่วย รฟท.ในการบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ทั้งรถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มากที่สุด