xs
xsm
sm
md
lg

“กกร.” ปรับเป้าจีดีพี-ส่งออกปีนี้เพิ่มขึ้นรับคลายล็อกดาวน์-ศก.โลกฟื้น แนะรัฐตั้งเป้า ศก.ปีหน้าโตแบบท้าทาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกร.ปรับเป้าจีดีพีปี 2564 โตเพิ่มขึ้น -0.5% ถึง 1.0% ส่งออกเพิ่มเป็น 12-14% รับเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและไทยเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ทำให้กิจการต่างๆ เริ่มทยอยกลับมา แนะภาครัฐตั้งเป้า ศก.ปี 2565 โตแบบท้าทาย 6-8% พร้อมเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเป็น 70-80% เพื่อเร่งขับเคลื่อน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะทำหน้าที่ประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนและ 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้นจนนำมาสู่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงแผนการจัดหาวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว กกร.จึงปรับคาดการณ์การเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 เพิ่มขึ้นจากกรอบเดิม -0.5% ถึง 0% มาอยู่ในกรอบ -0.5% ถึง 1.0% การส่งออกจากเดิม 10% ถึง 12% เป็น 12%-14% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเดิม 1% ถึง 1.2%

“เศรษฐกิจที่เหลือของปีนี้น่าจะดีขึ้นหากการฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. Supply chain ของภาคการผลิตใน Bubble & Seal ต้องไม่หยุดชะงัก และ 2. หากควบคุมโควิด-19 ได้ดีแล้วรัฐสามารถเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ทัน High Season ในช่วงปลายปีก็จะสร้างบรรยากาศให้ดียิ่งขึ้นได้ แต่หากการระบาดแย่ลงก็ย่อมนำไปสู่ภาวะเสี่ยง โดยเห็นว่าการที่รัฐคลายล็อกดาวน์เป็นสิ่งที่ดี และไม่ควรมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกต่อไป” นายผยงกล่าว

ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐได้ประเมินเศรษฐกิจปี 2565 จะเติบโตได้ 3% ถึง 5% ซึ่งการเติบโตในระดับนี้ต่ำเกินไป และทำให้ระดับกิจกรรมเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากยังบอบช้ำ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวโดยเร็วรัฐควรวางเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% ซึ่งเป็นไปได้เพราะคนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดยรัฐต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 0.7-1.5 ล้านล้านบาท โดยเน้นสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มีตัวคูณ (Multiplier) กับเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-payment) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้น ฯลฯ

“ข้อเสนอของเอกชนไม่ควรจะมีมาตรการล็อกดาวน์อีกต่อไปเพราะกระทบต่อเศรษฐกิจมาก แต่ควรใช้มาตรการ Bubble & Seal ร่วมกับการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เชิงรุก โดยเห็นว่ารัฐควรช่วยเหลือค่าใช้จ่าย ATK และค่าระวางเรือที่สูงขึ้นเพื่อสนับสนุนการส่งออก ขณะเดียวกันควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เป็นต้น” นายผยงกล่าว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากวัคซีนที่จะเข้ามาได้ตามแผนที่รัฐวางไว้ก็จะทำให้เศรษฐกิจที่เหลือปีนี้และปีหน้าเติบโตต่อเนื่องได้ โดยเห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และจากนี้ไปรัฐไม่ควรกำหนดมาตรการล็อกดาวน์อีกเพราะพิสูจน์ได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อก่อนและหลังล็อกดาวน์ไม่ได้ต่างกันมากนัก เพิ่งมีระยะ 2-3 วันนี้เท่านั้นที่ตัวเลขลดลงมา

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ล่าสุดมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเสียหาย 3-4 แสนล้านบาท เมื่อรัฐคลายล็อกดาวน์กิจการบางอย่างจะกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง ทำให้ความเสียหายจะลดลงเหลือ 2-3 แสนล้านบาท และหาก ต.ค.นี้มีการผ่อนคลายการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นก็จะทำให้สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้นต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติตนทั้งกิจการและผู้ใช้บริการ รวมถึงประชาชนจะต้องไม่การ์ดตกด้วยเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น