ส.อ.ท.ไม่แปลกใจ ศบค.ล็อกดาวน์ต่อถึง 31 ส.ค.เหตุผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังพุ่งไม่หยุด มองข้ามช็อตหวั่นล็อกดาวน์ยาว 2-3 เดือนหากไม่สามารถกดตัวเลขติดเชื้อลงได้ ชี้ยิ่งยืดเยื้อมีแต่ซ้ำเติม ศก.ต้องเพิ่มเยียวยา ผวาคลัสเตอร์โรงงานพุ่ง แนะเร่งช่วยเหลือด่วนก่อน ศก.พังโดยเฉพาะเอสเอ็มอี
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยถึงกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบการขยายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 29 จังหวัดต่อไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค.ว่า เป็นแนวทางที่เอกชนรับรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วเนื่องจาก ศบค.ได้ส่งสัญญาณไว้ชัดเจนว่าหากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราสูงก็จะต้องขยายเวลาต่อไปอีก โดยจะพิจารณาทุกๆ 15 วัน โดยเอกชนมองแนวโน้มสูงที่รัฐจะต้องขยายเวลาล็อกดาวน์ต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือนหากไม่สามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่สูงระดับ 2 หมื่นคนลงได้ รวมถึงยังไม่มีความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งหากยิ่งขยายเวลาล็อกดาวน์มากขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2564 เพิ่มขึ้นเช่นกัน
“แม้จะมีการกำหนดมาตรการผ่อนผันโดยให้เปิดกิจการธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงภาพรวมเศรษฐกิจไทย และหากติดตามข่าวสาร ศบค.ก็ส่งสัญญาณว่าอาจจะล็อกดาวน์ต่อเนื่อง 2-3 เดือนหากตัวเลขติดเชื้อไม่ดีขึ้น ซึ่งยิ่งนานก็ยิ่งมีผลต่อเศรษฐกิจมากแม้แต่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เองก็ลดตัวเลขจีดีพีปีนี้เหลือโตแค่ 0.7-1.2% ซึ่งปกติแล้ว สศช.มีมุมมองที่เป็นบวกอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็แนะนำรัฐกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาทเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ถ้าย้อนไปจะพบว่าผมได้เคยเสนอมาก่อนหน้าแล้วว่าเป็นเรื่องจำเป็นในการเยียวยาเพิ่ม” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้มีการหารือ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ และประธานภาคทั่วประเทศ โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. เป็นประธานหารือร่วมกันเพื่อเปิดมุมมองในการดำเนินมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล (bubble and seal) ซึ่งเป็นการควบคุมแรงงานในโรงงานไม่ให้มีกิจกรรมกับคนนอกโรงงานหรือมีน้อยสุดเพื่อลดการแพร่กระจายโควิด-19 รวมถึงการจัดทำโรงพยาบาลสนามในโรงงาน (FACTORY ISOLATION) ซึ่งเหล่านี้พบว่าเอกชนรายใหญ่ๆ ที่เป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออกต่างได้ดำเนินการมาหมดแล้วก่อนที่ ศบค.จะกำหนดมาตรการควบคุมพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) และโครงการนำร่อง การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ชลบุรี) โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นสถานประกอบการภาคการผลิตส่งออกที่มีจำนวนผู้ประกันตนเกิน 500 คนขึ้นไป
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ในโรงงานไม่ให้เพิ่มขึ้นที่ล่าสุดตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการที่ได้รับแจ้งโรงงานที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ในแรงงานสูงถึง 1,600-1,7000 แห่งคือการเร่งจัดสรรวัคซีนเพื่อให้แรงงานในภาคการผลิตได้รับการฉีดทั้งหมดโดยเร็ว นอกจากนี้ การแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อโดยการคัดกรองเร่งด่วนด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK นั้นทางโรงงานก็ได้ดำเนินการแต่ต้องเข้าใจว่าศักยภาพก็ต่างกันไป จึงเห็นว่าภาครัฐควรจะพิจารณาการช่วยเหลือ เพราะขณะนี้ ATK ที่จำหน่ายทั่วไปสูงถึง 350-400 บาทต่อชุด หรือหากจัดหาจำนวนมากจะลดมาสู่ระดับ 200-300 บาทต่อชุด หากเป็นไปได้รัฐควรจะช่วยเหลือให้ได้ราคาต่ำลงเหลือ 60-70 บาทต่อชุด ด้วยการเข้ามาอุดหนุนราคาส่วนต่างหรือออกค่าใช้จ่ายให้ 50% โดยเฉพาะให้เอสเอ็มอี รวมถึงการนำไปหักลดหย่อนภาษีได้อีกทาง ฯลฯ
“เอกชนเขาดิ้นรนทุกทางแล้ว ส่วนเอสเอ็มอีเวลานี้การทำโรงพยาบาลสนามในโรงงานเขาไม่มีพื้นที่เขาก็รวมกันไปทำ เป็นไปได้ไหมที่รัฐจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเหล่านี้ที่นับวันต้นทุนก็เพิ่มขึ้น เรากังวลนะคลัสเตอร์โรงงานหากเกิดอะไรขึ้นจะยิ่งลำบากเพราะเหลือแค่กลไกเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว และจะเห็นว่าค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าสุดในภูมิภาคสะท้อนจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และอาจเห็นสู่ระดับ 40 บาทต่อเหรียญได้ก็คงไม่เป็นผลดีต่อการลงทุน” นายเกรียงไกรกล่าว