xs
xsm
sm
md
lg

คลัสเตอร์โรงงานพุ่งไม่หยุด! “ส.อ.ท.” ชี้ภาคผลิตต้องเข้าถึง ATK-วัคซีนเร่งด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.วิตกหนักคลัสเตอร์โรงงานลามไม่หยุด แย้มตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการโรงงานมีแรงงานติดเชื้อพุ่ง 1,300 แห่งหากปล่อยไว้อาจเสียหายต่อ ศก.หนัก ภาคอุตฯ เร่งตรวจโควิดเชิงรุกด้วย ATK เพิ่มแต่ยังราคาแพงดันต้นทุนพุ่ง จี้รัฐช่วยค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะเอสเอ็มอี แนะปลดล็อกให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึง ATK โดยง่าย ราคาต่ำ และมีมาตรฐาน เหตุเดลตาแรง รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนควบคู่โดยเร็ว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีความกังวลต่อการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานหรือคลัสเตอร์โรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการมีโรงงานประสบปัญหาแรงงานติดเชื้อแล้วราว 1,300 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสมาชิก ส.อ.ท. โดยเฉพาะในโรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น กลุ่มอาหาร กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มสิ่งทอ เป็นต้น เนื่องจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาระบบคัดกรองแรงงานเดิมที่เคยคุมอยู่ในการระบาดรอบที่ 1-2 ไม่สามารถต้านทานได้ โดยเฉพาะการตรวจวัดอุณหภูมิที่ต้องปรับมาสู่การคัดกรองด้วยชุดตรวจโควิด หรือ ATK (Antigen Test Kit) เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งปลดล็อกให้คนไทยทุกระดับสามารถเข้าถึง ATK โดยง่าย มีราคาต่ำและได้มาตรฐานโดยเร็ว ควบคู่กับการเร่งฉีดวัคซีนก่อนที่จะกระทบระบบเศรษฐกิจไทยภาพรวม

“ขณะนี้เราพบว่าซัปพลายเริ่มช็อต ตามชั้นวางสินค้าในห้าง ร้านค้าบางส่วนของขาด ส่วนหนึ่งจากปัญหามีการติดเชื้อในแรงงานที่ประจำตามศูนย์กระจายสินค้า (DC) ไม่ใช่เพราะโรงงานหละหลวม หากแต่สายพันธุ์เดลตาร้ายแรง ติดง่าย การตรวจคัดกรองแบบเดิมวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ ฯลฯ เอาไม่อยู่ และพบว่าในต่างประเทศเขาแยกผู้ติดเชื้อด้วย ATK และได้ผล โดยในยุโรป ATK ราคาแค่ชุดละ 1 ยูโร (ราว 39-40 บาท) หาซื้อตามร้านสะดวกซื้อ ตู้จำหน่าย ร้านขายยา ฯลฯ แต่ไทยระเบียบคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุชัดเจนว่าการจำหน่ายทำได้เฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ หน่วยงานรัฐเพื่อส่งต่อสถานพยาบาลรัฐ คลินิกเวชกรรม และร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรประจำอยู่ และราคาก็ยังสูง 200-300 กว่าบาทต่อชุด” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผานมานโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบให้อุตสาหกรรมจังหวัดส่งหนังสือมายังผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศเพื่อขอความร่วมมือทำแนวปฏิบัติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในการแบ่งกลุ่มพนักงานเป็นกลุ่มๆ เพื่อลดการสัมผัสระหว่างกัน หรือ Bubble And Seal เพื่อลดการแพร่กระจายโควิดในโรงงาน ซึ่งหลักปฏิบัติที่สำคัญคือ การมีเตียงสนามรองรับในโรงงานจำนวน 10% ของแรงงาน และการตรวจ ATK ทุก 14 วัน ซึ่งจะเห็นว่าขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนการใช้ ATK เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อออกมาแต่ระเบียบด้านสาธารณสุขเองกลับไม่ได้เอื้อ และหากทำแล้วยึดตามระเบียบก็เท่ากับผิดกฎหมาย

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้เปิดรับเงินบริจาคเพื่อจัดหา ATK ให้แก่สมาชิกเพื่อตรวจโควิดเชิงรุกโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในราคาต่ำ โดยได้จัดหาไปแล้ว 3 ล็อตรวม 100,000 ชุด และอยู่ระหว่างจัดหาล็อตใหม่ที่มีแนวโน้มราคาจะต่ำกว่า 200 บาทต่อชุด ซึ่งโรงงานต่างๆ ต้องใช้ ATK จำนวนมากทำให้เป็นต้นทุน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ก็ประสบกับความยากลำบากอยู่แล้ว ดังนั้น ส.อ.ท.จึงพยายามเสนอให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เช่น การลดหย่อนภาษี 2 เท่า เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น