ส.อ.ท.เผยผลหารือ “อนุทิน” รับข้อเสนอที่จะหาแนวทางจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อจัดสรรให้แรงงานเพิ่มขึ้นหลังเกิดคลัสเตอร์โรงงานจำนวนมาก ครวญภาคอุตฯ เคว้งวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกไม่มีการฉีดยังคงไม่เป็นไปตามแผนโดยเฉพาะแรงงาน ม.33 พร้อมวาง 3 มาตรการป้องกันโควิดในโรงงาน ดิ้นทุกทางเลือกหาวัคซีน ลุ้นไปต่อกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่อาจจัดสรรเพิ่มได้ ส.ค.นี้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ผู้บริหาร ส.อ.ท.ได้ประชุมหารือร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ โดย ส.อ.ท.ได้ขอให้พิจารณาจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้เกิดการระบาดในคลัสเตอร์โรงงานจำนวนมากแต่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีการฉีดวัคซีนค่อนข้างต่ำ โดยสะท้อนจากการฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานในระบบประกันตน ม.33 ที่เดิมกำหนดเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนป้อนให้ล้านโดส และ ก.ค.เป็นต้นไปจะมีอีกเดือนละ 1.5 ล้านโดส แต่ล่าสุดวัคซีนที่เข้ามาเดือน มิ.ย.มีเพียง 6-7 แสนโดส และ ก.ค.-ส.ค.จะได้เดือนละเพียง 8 แสนโดส
“วัคซีนที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับมีไม่ถึง 10% ของแรงงานทั้งหมด เคว้งมากไม่รู้จะเอาที่ไหน วัคซีนทางเลือกก็ไม่มี จึงอยากให้รัฐเร่งแก้ไขตรงนี้ ซึ่งท่านรองนายกฯ เองรับปากว่าจะกลับไปพิจารณาการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ล่าสุด ส.อ.ท.ก็ได้เรียนไปทางผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานอีกทางเพื่อช่วยพิจารณาการหาวัคซีนฉีดให้แก่แรงงานเร่งด่วน นอกจากนี้ ส.อ.ท.เองก็หารือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อหาโอกาสในการขอจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มเพิ่มเติมจากก่อนหน้าที่ได้รับจัดสรรมา 3 แสนโดสโดยทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ระบุว่าอาจเป็นช่วงเดือน ส.ค.นี้ เราจึงอยู่ระหว่างการสอบถามสมาชิกถึงความต้องการอีกครั้ง” นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อโรงงาน จากการหารือกับรองนายกฯ ได้เห็นชอบที่จะดำเนินการ 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1) การจัดอบรมวิธีการใช้ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน หรือ Antigen Test Kit อย่างถูกต้อง โดยให้ตรวจอย่างน้อย 20% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 2) การจัดอบรมการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการด้วยการทำ Bubble and seal โดยไม่ต้องปิดโรงงานสำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ส่วนสถานประกอบการที่มีพนักงานน้อยกว่า 200 คน แนะนำให้ใช้มาตรฐาน Thai Stop Covid ของกระทรวงอุตสาหกรรม และ 3) การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการรูปแบบ Community Isolation รับรองโดยสาธารณสุขจังหวัดและดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งจะต้องมี Heathy Leader อย่างน้อย 2 คน
นอกจากนี้ จะมีการนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (Exposure Notification Express : ENX) ที่พัฒนาขึ้นโดย Google และ Apple มาใช้เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดลดการติดเชื้อและการเสียชีวิต ซึ่ง ส.อ.ท.เสนอตัวเป็นผู้ดูแลระบบและประสานงาน โดยจะนำร่องเพื่อใช้งานในภาคอุตสาหกรรมก่อน
“โรงงานขนาดใหญ่ต้องเตรียมพร้อมในการทำ Bubble and seal เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบต่อการผลิตก็คิดว่าจะทำให้การรับมือดีขึ้น โดยขณะนี้โรงงานต่างๆ ก็มีการใช้ Antigen Test Kit ให้แก่แรงงานรวมการจ่ายค่าฉีดวัคซีนต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งบางโรงงานก็มีศักยภาพในการจ่ายแต่บางแห่งก็ไม่มี เห็นว่าเรื่องนี้รัฐบาลควรจะพิจารณาการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายหรืออาจเป็นเรื่องการหักภาษีฯ” นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ ส.อ.ท.ขอเชิญร่วมบริจาคเงินเพื่อจัดหาห้องความดันลบช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ได้ที่ชื่อบัญชี มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม เลขที่บัญชี 009-1-71583-0 ธนาคารกรุงไทย สาขาไทยเบฟควอเตอร์ (ใบบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 100%)
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน ส.อ.ท. หมายเลข 1453 ทุกปัญหา อุตสาหกรรมมีคำตอบ