xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการป้องโควิดป่วนโรงงาน! ส.อ.ท.ส่งหนังสือจี้รัฐชง 4 ข้อให้เป็นมาตรฐานเดียว พร้อมช่วยค่าใช้จ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.โวยมาตรการป้องกันควบคุมโควิดในภาคอุตสาหกรรมโดยการทำ Bobble and Seal และตรวจ ATK FQ ป่วน เหตุแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน สับสน ดันต้นทุนพุ่ง แถมไม่มีความชัดเจนในงบช่วยเหลือ ร่อนหนังสือถึงรัฐ ทั้งคลัง มหาดไทย สาธารณสุข สำนักนายกรัฐมนตรี และแรงงาน ชง 4 แนวทางให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมขอให้ช่วยค่า ATK ค่าเตียงสนามฯลฯ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ส.อ.ท.พร้อมที่จะขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานที่ขณะนี้พบมีการแพร่ระบาดกว่า 1,000 แห่งตามข้อเสนอของภาครัฐ แต่พบว่าข้อปฏิบัติของแต่ละจังหวัดที่ออกมาต่างกันออกไปทำให้เกิดความสับสน จึงได้สรุปแนวทางที่เอกชนเห็นว่าควรจะนำไปสู่การปฏิบัติได้แบบมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด โดยเร็วสุดวันนี้ช้าสุดวันที่ 24 ส.ค.จะทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมพิจารณาแนวทางดังกล่าว ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย คลัง สาธารณสุข แรงงาน และสำนักนายกรัฐมนตรี

“เอกชนพร้อมจะทำแต่อยากให้เป็นมาตรฐานเดียวและปฏิบัติได้จริงเพราะโรงงานแต่ละแห่งมีศักยภาพต่างกัน ต้นทุนที่สูงขึ้นเวลานี้รัฐชัดเจนมากในการออกข้อปฏิบัติให้ป้องกันโควิด-19 แต่ไม่ชัดเจนช่วยค่าใช้จ่ายใดๆ เลย ซึ่งข้อเท็จจริงรัฐก็ได้ออกค่าใช้จ่ายให้โรงพยาบาลเอกชน แต่ในส่วนของการทำเตียงสนามในโรงงานเราจะเบิกกับใครอย่างไรก็ไม่รู้ โดยอยากให้สรุปโดยเร็วเพราะยิ่งช้าจะยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจเพราะเวลานี้โรงงานที่เดินกำลังผลิตเต็มที่เริ่มได้รับผลกระทบชะลอการผลิตแล้ว 5-10% ซึ่งเวลานี้ภาคผลิตที่ส่งออกคิดเป็น 70% ของจีดีพีและเหลือเพียงภาคเดียวหากมีปัญหาย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจ” นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับข้อเสนอ ได้แก่ 1. มาตรการ Bubble and Seal สำหรับภาคอุตสาหกรรมต้องมีความชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกพื้นที่ โดยให้สุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK สม่ำเสมอ 10% ของจำนวนพนักงาน ทุก 14 วัน โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย และให้พนักงานผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถกลับเข้ามาทำงานใน Bubble ในโรงงานตามปกติ

“ค่า ATK ที่เราเสนอคือไม่เกิน 200 บาทต่อคนที่รัฐควรจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย โดยขอให้สามารถเบิกกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือรัฐจะจัดหามาให้เอกชนโดยตรงเองก็ได้ตามจำนวนที่ตกลงกัน โดยข้อเสนอนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐต้องการให้ตรวจกี่วันก็ต้องบอกมาเอกชนก็ไม่ได้ขัด หากจะเป็น 7 วันตรวจทีแต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นแต่ต้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด” นายสุพันธุ์กล่าว


2) สถานประกอบการที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง Factory Quarantine และ Factory Accommodation Isolation โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงาน ซึ่งพบว่าการจัดหาเตียงมีค่าใช้จ่ายราว 1 หมื่นบาทต่อเตียง และเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งโรงพยาบาลแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่ประกันสังคมเพื่อให้บริการโรงงานในพื้นที่ ณ จุดเดียว ตั้งแต่การตรวจหาเชื้อไปจนถึงส่งต่อผู้ป่วยเข้าไปในระบบการรักษา เพื่อลดขั้นตอนในการหาโรงพยาบาล

3) สถานประกอบการที่มีพนักงานต่ำกว่า 300 คน ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมจัดตั้ง Community Quarantine (CQ), Community Isolation (CI) (ศูนย์พักคอยและแยกกักตัว) ให้เพียงพอต่อแรงงาน โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงานในพื้นที่

4) จัดสรรวัคซีนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยจัดสรรตามลำดับความสำคัญทางสาธารณสุข การป้องกันโรค และเศรษฐกิจใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อายุ 40-59 ปี กลุ่มพนักงานในสถานประกอบการที่มีการติดเชื้อมากกว่า 50% จนต้องปิดกิจการ และกลุ่มพนักงานในอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด


กำลังโหลดความคิดเห็น