กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.40-32.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังซื้อขายในกรอบ 32.60-33.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทพลิกทิศทางแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 สัปดาห์ ท่ามกลางการตัดขาดทุนหลัง USD/THB หลุดแนวรับสำคัญและความหวังเกี่ยวกับการเปิดเมือง เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงหลังสหรัฐฯ อนุมัติการใช้วัคซีน COVID-19 อย่างเต็มรูปแบบสำหรับ Pfizer-BioNTech ซึ่งคาดว่าชาวอเมริกันที่ลังเลในการรับวัคซีนจะตัดสินใจฉีดสูงขึ้นและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Delta นอกจากนี้ เงินดอลลาร์เผชิญแรงกดดันจากมุมมองที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังไม่เร่งคุมเข้มนโยบาย ทางด้านเกาหลีใต้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี สู่ 0.75% จากจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 13,405 ล้านบาท และ 23,567 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ มองว่าตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูล ISM ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อการประเมินจังหวะเวลาสำหรับการปรับนโยบายของเฟดต่อไป ทั้งนี้ ประธานเฟดแถลงในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ถึงแนวโน้มที่จะเริ่มลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เฟดชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างกันของเงื่อนไขต่างๆ ระหว่าง QE Tapering กับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยกรุงศรีมองว่าเฟดพยายามสื่อสารกับตลาดเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อกรอบนโยบายใหม่ที่ใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้เฟดไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยกรณีที่เงินเฟ้อสูงเพียงชั่วคราว คาดว่าในภาวะเช่นนี้การฟื้นตัวของเงินดอลลาร์อาจเป็นไปอย่างจำกัด อย่างไรก็ดี ตลาดจะติดตามความตึงเครียดในอัฟกานิสถานซึ่งอาจกระทบบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้เช่นกัน
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่าสามารถเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น ด้านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ กรุงศรีมองว่าการทยอยคลายล็อกมาตรการควบคุมโรคบางส่วนซึ่งจะเริ่มในเดือนกันยายน และการกระจายวัคซีนที่เร่งตัวอาจหนุน Momentum ได้ต่อเนื่องหลังเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ขณะที่ตลาดกลับสถานะการลงทุน อนึ่ง คาดว่าเงินบาทจะผันผวนสูงระหว่างวันท่ามกลางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีแนวโน้มเข้าออกเร็วมากขึ้น