กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่าเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.30-33.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดที่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 ปีที่ 33.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังซื้อขายในกรอบ 32.91-33.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 33.30-33.60 หลายปัจจัยกดดันบาทอ่อนสุดรอบ 3 ปี ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50%
ด้านเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แสดงความเห็นสนับสนุนแนวทางที่ว่าเฟดจะเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้น ขณะที่ข้อมูลการจ้างงานเดือนกรกฎาคมที่สดใสเกินคาดได้หนุนค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ขึ้นเช่นกัน ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ประกาศคงนโยบายแต่ระบุว่าจะเริ่มปรับลดการถือครองพันธบัตรเมื่อดอกเบี้ยนโยบายแตะระดับ 0.5% จากปัจจุบันที่ 0.1% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 8,148 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรมูลค่า 12,397 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ เป็นหลัก หลังจากตัวเลขบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์ของนักลงทุนที่ว่าเฟดอาจจะปรับลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์เร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ อนึ่ง กรุงศรีมองว่าแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินจากระดับผ่อนคลายมากเป็นพิเศษสู่ระดับปกติเพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยภาวะ Policy Divergence นี้จะส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศที่คุมเข้มนโยบายเร็วกว่าสหรัฐฯ เช่น นิวซีแลนด์ และแคนาดา เป็นต้น
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ อาจกล่าวได้ว่ามติของ กนง. ที่ไม่เป็นเอกฉันท์นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าประหลาดใจโดยกรรมการ 4 รายเห็นว่ามาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดดอกเบี้ยที่ต่ำมากแล้ว ขณะที่กรรมการ 2 รายเห็นควรให้ลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.25% และมีกรรมการลาประชุม 1 ราย ทั้งนี้ กนง. ระบุว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ โดย กนง.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 และ 2565 เป็นเติบโต 0.7% และ 3.7% ตามลำดับ ขณะที่ในกรณีฐานทางการคาดว่าการแพร่ระบาดจะควบคุมได้และทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในต้นไตรมาส 4/64 และจะลดจำนวนวันกักตัวนักท่องเที่ยวในไตรมาส 2/65 อีกทั้ง กนง.เห็นว่าเงินบาทอ่อนค่าตามปัจจัยภายใน กรุงศรีปรับมุมมองโดยประเมินว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ขณะที่ความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรุมเร้ารอบด้าน