“สุพัฒนพงษ์” สั่งติดตามสถานการณ์ LPG ตลาดโลกใกล้ชิดก่อนหารือใน “กบง.” เดือน ก.ย.ว่าจะขยายมาตรการตรึงราคา LPG ระดับ 318 บาทต่อถัง 15 กก.ต่อหรือไม่ ยืนยันต้องดูแลประชาชนด้วย ขณะที่ สกนช.เกาะติดรับ LPG ตลาดโลกปีนี้สูงหลังทั่วโลก WFH ดันการใช้พุ่ง มั่นใจกรอบวงเงินที่ขยายการดูแลเพิ่ม 3,000 ลบ.เป็น 18,000 ลบ.จะดูแลได้ถึง ก.ย.นี้ ขณะที่สมาคมผู้ค้า LPG หนุนรัฐตรึงยาวถึงสิ้นปี
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานโดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีนโยบายในการดูแลราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หรือก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน โดยตรึงราคาไว้ระดับ 318 บาทต่อขนาดถัง 15 กิโลกรัมอีก 3 เดือน (ระหว่าง ก.ค.-ก.ย. 2564) จากเดิมสิ้นสุด 30 มิ.ย. 2564 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้ขยายกรอบวงเงินดูแลราคา LPG จากเดิม 15,000 ล้านบาทเป็น 18,000 ล้านบาทไว้ อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวจะพิจารณาขยายต่อหรือไม่นั้นขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจ โดยจะขอติดตามปัจจัยต่างๆ ก่อน
“หากมองสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรวมก็ยังไม่มีปัญหาอะไรขณะนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจะขยายต่อหรือไม่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังติดตามปัจจัยต่างๆ ประกอบการตัดสินใจ ทั้งค่าครองชีพประชาชน และราคาตลาดโลก ซึ่ง เดือน ก.ย.นี้ กบง.คงจะต้องมีคำตอบในเรื่องนี้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ขณะนี้สกนช.ได้ติดตามราคา LPG ตลาดโลกใกล้ชิด เนื่องจากภาพรวมปีนี้ราคาค่อนข้างสูงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 580-640 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกมีการทำงานที่บ้าน (WFH) เช่นเดียวกับไทยทำให้ความต้องการสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม หากราคา LPG ตลาดโลกยังเฉลี่ยอยู่ระดับดังกล่าวกรอบวงเงินที่รัฐกำหนดไว้ดูแลราคา LPG 18,000 ล้านบาทจะเพียงพอดูแลได้ถึง ก.ย.นี้
“ขณะนี้เงินไหลออกจากการตรึง LPG ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก.ราวเดือนละ 800 กว่าล้านบาท ขณะนี้เราใช้เงินดูแลไปแล้วติดลบกว่า 15,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อถึง ก.ย.ก็น่าจะอยู่ราว 17,000 กว่าล้านบาทซึ่งยังไม่เกินกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ แต่หากจะมีการดูแลราคาต่อก็ต้องขยายกรอบวงเงินดูแลเพิ่มซึ่งต้องให้ กบง.ในการประชุมเดือน ก.ย.ตัดสินใจอีกครั้ง ขณะนี้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิอยู่ที่ประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท มีเงินไหลออกรวม 1,600 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นการดูแลน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ และ LPG อย่างละครึ่ง หากราคาน้ำมันและ LPG อยู่ในระดับปัจจุบันก็จะมีเงินดูแลได้รวมอีก 10 เดือน” นายวิศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ที่ผ่านมานโยบายรัฐต้องการเปิดเสรี LPG เช่นเดียวกับน้ำมันเพื่อให้เกิดการแข่งขันและลดการอุดหนุนซึ่งหากจะให้สะท้อนต้นทุนจริงจะต้องปรับราคาขึ้น 3 ขั้นตอน(Step) โดยขึ้นทีละ 1 บ./กก. แต่ด้วยเพราะ LPG ตลาดโลกมีการปรับขึ้นต่อเนื่องและประกอบกับผลกระทบโควิด-19 นโยบายของรมว.พลังงานปัจจุบันจึงนำเงินกองทุนฯมาตรึงราคาไว้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนเพราะเห็นว่าผู้ที่ใช้ LPG เป็นภาคครัวเรือนและเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานรากโดยแท้จริงและประโยชน์การตรึงราคาก็ได้รับเกือบทุกคน
นายสุรศักดิ์ อยู่คงพัน นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กล่าวว่า หากเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลตรึงราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก.ยาวไปจนถึงสิ้นปี เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้ผลกระทบโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ประชาชนระดับฐานรากขาดรายได้ กิจการขนาดเล็กโดยเฉพาะร้านอาหารต้องปิดตัวลงหรือบางแห่งอาจเปิดขายได้แต่ก็กำไรต่ำเพราะผู้ซื้อลดลง
“สมาคมฯ ได้รับการร้องเรียนมาจากร้านค้าสมาชิกที่มีนับ 1,000 แห่งทั่วประเทศจำนวนมากถึงผลกระทบโควิด-19 เนื่องจากพนักงานจัดส่งถังก๊าซไปให้ที่บ้านต่างคนก็กลัวการติดโควิด-19 เพราะบางบ้านที่มีแต่ผู้หญิงต้องเข้าไปภายในเพื่อเปลี่ยนถังให้ ขณะเดียวกันบางร้านก็ขาดแคลนแรงงานที่ส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว หรือมีแต่คนไทยก็กลัวติดโควิด-19 อีกจึงเป็นปัญหาพอสมควร ขณะที่การฉีดวัคซีนแต่ละที่ก็ยังพบว่ามีไม่มากนัก” นายสุรศักดิ์กล่าว