xs
xsm
sm
md
lg

“แท็กซี่” นับ 100 คันจอดประท้วง “คมนาคม” เรียกร้อง “นายกฯ” พักหนี้-ยกเลิกกฎกระทรวงแอปฯ เรียกรถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แท็กซี่จอดเต็มถนนราชดำเนิน หน้ากระทรวงคมนาคม เรียกร้อง “นายกฯ” ช่วยเหลือ พักชำระหนี้ไฟแนนซ์ ลดดอกเบี้ย และยกเลิกกฎกระทรวงแอปฯ แท็กซี่ ให้รถป้ายดำรับส่งผู้โดยสารเอาเปรียบรถที่อยู่ในระบบและถูกกฎหมาย

รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงเช้าวันนี้ (31 ก.ค.) ได้มีผู้ประกอบการแท็กซี่กว่า 100 คัน ได้นำรถแท็กซี่มาจอดไว้ที่ถนนราชดำเนิน บริเวณด้านหน้ากระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่องทางคู่ขนานตลอดแนวเต็มสองฝั่ง นอกจากนี้ ยังมีรถแท็กซี่จอดที่ถนนวิภาวดีรังสิต ฝั่งขาออกบริเวณหน้ากระทรวงพลังงานอีกจำนวนหนึ่ง

นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการแท็กซี่ทุกสมาคมได้ร่วมกันยื่นหนังสือไปยังผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และไปยื่นที่รัฐสภาด้วยเพื่อให้ช่วยเหลือ แต่ถึงวันนี้ไม่มีการดำเนินการช่วยเหลือใดๆ

ซึ่งการล็อกดาวน์ให้ทำงานแบบ Work From Home มีการปิดสถานบริการต่างๆ ปิดร้านค้า ร้านอาหาร ปิดการเดินทาง คนทำงานไม่ได้ ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารรถแท็กซี่ลดลงไปเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่มีผู้โดยสาร ไม่มีรายได้ แต่ค่าใช้จ่ายค่าผ่อนรถยังต้องจ่ายเหมือนเดิมจึงทนไม่ไหวแล้ว ต้องนำรถมาจอด เพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับรู้และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

โดยเรียกร้องขอให้รัฐช่วยเหลือ 7 ข้อ ได้แก่ 1. ขอให้รัฐพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่เข้าไปดำเนินการมาตรการร่วมกับกลุ่มไฟแนนซ์ 2. ขอให้รัฐเร่งหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้แท็กซี่เข้าถึงได้ง่าย โดยให้มีกองทุน 1-2 แสนบาทต่อคน เพื่อสามารถนำไปชำระหนี้นอกระบบหรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ ซึ่งโดยเฉลี่ยแท็กซี่มีหนี้อยู่ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท/คน 

3. ขอให้รัฐช่วยเจรจาไฟแนนซ์ในการลดดอกเบี้ย ซึ่งมีอัตราสูงถึง 15% ทำให้แท็กซี่ต้องแบกภาระค่าผ่อนรถ 24,000-25,000 บาท/เดือน 4. ขอให้รัฐช่วยเหลือลดค่าเบี้ยประกันภัยรถประเภท 3 ลง 50% เฉลี่ยมีภาระประมาณ 17,000 บาท/ปี 5. ขอให้รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรววคมนาคมยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ที่ให้รถป้ายดำ ซึ่งอยู่นอกระบบมารับผู้โดยสารได้ และขอให้หันมาปรับรถแท็กซี่ในระบบ เรียกใช้บริการผ่านแอปฯ ก่อน

6. ขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2563 ข้อที่บังคับให้แท็กซี่ติด GPS เพราะเป็นต้นทุนที่สูง โดยค่าติดตั้งเครื่องละ 40,000 บาท และมีค่าบริการอีก 4,200 บาท ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐบอกว่าเป็นทางเลือก ซึ่งแท็กซี่เป็นบริการสาธารรณะพื้นฐาน การที่รัฐจะประกาศอะไรต้องดูผลกระทบต่อต้นทุน ซึ่งเรื่องนี้รัฐควรอุดหนุน นอกจากนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปมาก คนขับแท็กซี่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ สามารถเชื่อมต่อระบบกับศูนย์กลางได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนติด GPS อีกแล้ว 

7. ขอให้นายกฯ ช่วยพิจารณาลดค่าเชื้อเพลิงก๊าซ LPG และ CNG มาอยู่ที่ 10 บาท/ลิตร จากปัจจุบันซึ่งราคาขึ้นไปอยู่ที่ 16 บาท/ลิตร 
นายวรพลกล่าวว่า ทั้ง 7 ข้อเคยยื่นไปเรียกร้องไปหมดแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง หน่วยงานโยนกันไปโยนกันมา แท็กซี่จอดรถประท้วงเพราะขาดรายได้ เดือดร้อน วันนี้รัฐบาลต้องคิดหาทางช่วยเหลือ ไม่ใช่จะแจกเงินอย่างเดียว แต่ควรต้องหาทางให้ทุกคนได้ทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อให้ประชาชนทุกคนอยู่ได้ 

อย่างไรก็ตาม การนำรถแท็กซี่ไปจอดที่หน้ากระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน เพื่อประท้วงรัฐบาลและเรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหา และหากยังไม่มีความคืบหน้า แท็กซี่จะร่วมกันยื่นถวายฎีกาที่สำนักราชเลขาธิการในเดือน ส.ค.นี้








กำลังโหลดความคิดเห็น