xs
xsm
sm
md
lg

อังกฤษยังเดินหน้าปลดเกือบทุกมาตรการสกัดโควิด แม้ยอดติดเชื้อพุ่งสูงสุดรอบหลายเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอริส จอห์สัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในวันจันทร์ (12 ก.ค.) จะเรียกร้องประชาชนอยู่ในความระมัดระวัง ท่ามกลางความคาดหมายว่าเขาจะยืนยันเดินหน้าแผนปลดข้อจำกัดสกัดโควิด-19 ที่เหลืออยู่เกือบทั้งหมดในอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมเป็นต้นไป แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสููงขึ้นในระดับที่ไม่พบเห็นมานานหลายเดือน

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้ว จอห์นสัน วางกรอบข้อเสนอยกเลิกกฎระเบียบด้านการสวมหน้ากากและการติดต่อทางสังคม รวมถึงคำสั่้งทำงานจากที่บ้าน ในสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น "ถนนเดินรถทางเดียวสำหรับมุ่งหน้าสู่เสรีภาพ" ทั้งนี้ เขาจะยืนยันถึงการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการแถลงข่าวที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ (12 ก.ค.)

"โรคระบาดใหญ่ของโลกยังไม่จบลง" เขาระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ในวันอาทิตย์ (11 ก.ค.) "เคสผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อเราคลายล็อก ดังนั้น ในขณะที่เรายืนยันแผนของเราในวันนี้ สารของเราจะชัดเจน การระมัดระวังเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเราต้องแบกรับความรับผิดชอบทั้งหมด เพื่อที่เราจะไม่ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่"

สหราชอาณาจักรดำเนินโครงการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนรวดเร็วที่สุดชาติหนึ่งของโลก โดยจนถึงตอนนี้มีประชากรวัยผู้ใหญ่แล้วมากกว่า 87% ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ฉีดครบ 2 โดสแล้ว มีอยู่ 66%

กระนั้นก็ตาม ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพบเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอีกครั้ง ในอัตราที่ไม่พบเห็นมาตั้งแต่ฤดูหนาว

แม้เคสผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น แต่รัฐบาลโต้แย้งว่าจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นรักษาตัวในโรงพยาบาล ยังคงอยู่ในระดับต่ำมากหากเทียบก่อนหน้านี้ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าวัคซีนสามารถปกป้องชีวิต และมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะเปิดเศรษฐกิจ

นาดฮิม ซาฮาวี หนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ดูแลโครงการวัคซีนโควิด-19 ส่งเสียงระมัดระวังมากกว่าในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนปลดมาตรการสกัดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกือบทั้งหมด เขากล่าวว่า แม้การสวมหน้ากากคลุมใบหน้าไม่ใช่มาตรการบังคับอีกต่อไป แต่กรอบคำแนะนำเน้นย้ำว่าประชาชนควรสวมหน้ากากยามอยู่ในสถานที่ปิดล้อมในร่ม

ทำเนียบนายกรัฐมนตรีของจอห์นสันเคยบอกก่อนหน้านี้ว่าการไฟเขียวยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ จะขึ้นอยู่กับว่ามันผ่านบททดสอบ 4 อย่างหรือไม่ ประกอบด้วย มีประชาชนฉีดวัคซีนมากพอหรือยัง วัคซีนช่วยลดอัตราผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตมากน้อยแค่ไหน โรงพยาบาลต่างๆ หลุดพ้นจากสถานการณ์ความแออัดและตัวกลายพันธุ์ต่างๆ ไม่ก่อความเสี่ยงมากจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่บางส่วนแสดงความกังวลว่ารัฐบาลกำลังเดินหน้ายกเลิกมาตรการต่างๆ เร็วเกินไป "ผมรู้ว่ารัฐบาลกระตือรือร้นอย่างมากในการนำประชาชนกลับมาทำงาน แต่ผมคิดว่าช่วง 4 ถึง 6 สัปดาห์ข้างหน้า ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินกิจธุระต่างๆ อย่างระมัดระวังที่สุดเพื่อลดอัตราการแพร่กระจายเชื้อ" ซูซาน ฮ็อปกินส์ ศาสตราจารย์จากสำนักงานสาธารณสุขของ​อังกฤษระบุ

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น