หัวหน้านักวิทยาศาสตร์องค์การอนามัยโลกยืนยัน วัคซีนทั้งหมดที่อนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินสามารถป้องกันอาการรุนแรง การเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ แม้แต่ละตัวจะต่างกันเรื่องการป้องกันการติดเชื้อก็ตาม แนะควรฉีดวัคซีนทันทีที่ถึงคิว และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่างๆ ต่อไป เพื่อตัดวงจรและควบคุมการระบาด
วันนี้ (10 ก.ค.) ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวถึงไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ในรายการวิทยาศาสตร์ใน 5 นาที ว่า สายพันธุ์เดลตาเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลสายพันธุ์ที่ 4 ที่องค์การอนามัยโลกได้มีการระบุไว้ ด้วยเหตุผลที่ว่าแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และยังสามารถต้านแอนติบอดี้ (ภูมิคุ้มกัน) ที่มีในเลือดของเราได้ด้วย นั่นหมายความว่า เราต้องการแอนติบอดี้ในระดับที่สูงกว่าเพื่อที่จะสู้กับสายพันธุ์นี้ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟา เป็นต้น
“ทีนี้ ข่าวดีคือ วัคซีนทั้งหมดที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินสามารถป้องกันอาการรุนแรง การเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิต ซึ่งอาจเกิดจากสายพันธุ์เดลตาได้ การศึกษาในประเทศที่มีรายงานสายพันธุ์เดลตาแสดงให้เห็นว่า คนที่ได้รับวัคซีนแล้วมีแนวโน้มต่ำกว่ามากที่จะเข้าโรงพยาบาล และคุณต้องได้รับวัคซีนครบคอร์สเพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันสายพันธุ์เดลตาเต็มที่ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ หากสามารถเข้าถึงวัคซีนที่ทางองค์การอนามัยโลกอนุมัติใช้แล้ว ให้รีบฉีดวัคซีนและฉีดให้ครบคอร์ส เพื่อที่จะมีภูมิคุ้มกันสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์อื่นๆ”
เมื่อถามถึงระดับภูมิคุ้มกันกรณีที่ได้รับวัคซีนเพียง 1 โดส เมื่อเทียบกับครบโดส ดร.ซุมยา กล่าวว่า เป้าหมายหลักของวัคซีนเหล่านี้คือการป้องกันโรคที่มีอาการรุนแรง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการ คือ ถึงแม้ติดเชื้อก็หายได้ และไม่ป่วยอาการรุนแรง นั่นคือสิ่งที่วัคซีนเหล่านี้ทำได้ดีมาก แน่นอนมีระดับต่างกัน คุณอาจจะอ่านเรื่องการทดลองประสิทธิภาพมา ซึ่งมีตั้งแต่ 70-90% แต่ถ้ามองเรื่องป้องกันอาการรุนแรง และการเข้าโรงพยาบาล วัคซีนทุกตัวดีมาก และมีประสิทธิภาพมากกว่า 90%
“วัคซีนต่างกันเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ ความจริงเราก็ยังจะมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อหรือการป่วยได้ 100% แต่วัคซีนที่เรามีในขณะนี้ไม่มีตัวไหนเลยที่ป้องกันได้ 100% นี่เป็นเหตุผลว่า ถึงแม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ แต่จะมีอาการไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการเลย และโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงนั้นน้อยมาก”
เมื่อถามว่า ถ้าเราติดเชื้อหรือแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้หลังฉีดวัคซีนครบ แล้วเราจะฉีดวัคซีนไปทำไม ดร.ซุมยากล่าวว่า มีสองเหตุผลที่ดีมากๆ ข้อแรก เพื่อปกป้องตัวเองจากการป่วยรุนแรงหากเกิดติดเชื้อขึ้นมา เรารู้ว่ามีสัดส่วนของประชากรในทุกกลุ่มอายุที่ป่วยรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคนี้ ซึ่งเราอยากป้องกันในส่วนนี้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมถึงควรฉีดวัคซีน
ข้อสอง ถ้าฉีดแล้วและถึงแม้จะติดเชื้อ เรารู้ว่าวัคซีนไม่ได้ป้องกันได้ 100% เราจะมีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยที่จะแพร่เชื้อให้คนอื่น เราจึงอยากมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อทำไม ทำไมถึงอยากจะเป็นหนึ่งคนในวงจรของการแพร่ระบาด สิ่งที่เราอยากทำทั่วโลกขณะนี้ คือการตัดวงจรของการระบาด ควบคุมการระบาดให้ได้ นั่นเป็นเหตุผลที่เราบอกว่า ควรฉีดวัคซีนทันทีที่ถึงคิวของเรา และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่างๆ ต่อไปเพื่อปกป้องตนเองและคนรอบข้างของเรา
อนึ่ง ทวิตเตอร์ขององค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ระบุว่า วัคซีนที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียน ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ข้อมูล ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยมีวัคซีน 3 ชนิดที่ให้บริการ ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม และ ซิโนแวค
วัคซีนที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียน ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
ข้อมูล ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยมีวัคซีน 3 ชนิดที่ให้บริการ ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม และ ซิโนแวค คุณจะพบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนทั้ง 3 นี้ได้จากลิงก์ในข้อความด้านล่าง pic.twitter.com/WSEI0bKVUk— WHO Thailand (@WHOThailand) July 7, 2021