xs
xsm
sm
md
lg

บราซิลพบตัวกลายพันธุ์ 'แกมมา' ร้ายไม่แพ้กัน ทำวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทสัญชาติจีน เครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19 ของบราซิล มีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเผชิญกับตัวกลายพันธุ์แกมมา ที่พบครั้งแรกในประเทศแห่งนี้ จากผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวันศุกร์ (9 ก.ค.) อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสายพันธุ์ดั้งเดิมนั้น ในผลการทดลองที่ตุรกี พบว่าโคโรนาแวคมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล 100% หากฉีดครบ 2 โดส

พวกนักวิจัยพบว่า แอนติบอดีที่สร้างขึ้นจากวัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเผชิญกับตัวกลายพันธุ์แกมมา เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม ในขณะที่สายพันธุ์แกมมายังสามารถทำให้คนที่เคยติดเชื้อไปแล้วติดเชื้อซ้ำได้อีก

ผู้เขียนผลการศึกษาระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ว่า "การที่แกมมามีความสามารถหลบหลีกการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันแม้กระทั่งในคนที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว บ่งชี้ว่าไวรัสมีศักยภาพแพร่กระจายเชื้อในบุคคลที่ฉีดวัคซีนแล้ว แม้กระทั่งในพื้นที่ต่างๆที่มีอัตราการฉีดวัคซีนระดับสูง"

ในการศึกษาขนาดเล็ก พวกนักวิจัยของมหาวิทยาลัยคัมปินาสในบราซิล แพร่เชื้อทั้งสายพันธุ์แกมมาและสายพันธุ์ดั้งเดิมของโควิด-19 เข้าสู่แอนติบอดีในพาสมา ที่เก็บตัวอย่างมาจากประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้ว 53 ราย และประชาชนที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว 21 ราย

ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้ว แบ่งเป็น 18 คนที่เพิ่งฉีดวัคซีนโคโรนาแวคเพียงเข็มเดียว หนึ่งในวัคซีนหลักของบราซิลในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อีก 20 คนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือ 15 ราย เคยเป็นอาสาสมัครฉีดวัคซีน ส่วนหนึ่งในการทดลองทางคลินิกของซิโนแวคในเดือนสิงหาคม 2020

ผลการทดลองพบว่า ตัวกลายพันธุ์แกมมาสามารถหลบหลีกแอนติบอดีในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มเดียวเกือบทุกราย เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนไปตั้งแต่ปี 2020 ขณะที่แอนติบอดีในกลุ่มคนที่เพิ่งฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ยังคงมีประสิทธิภาพ แต่มันมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเทียบกับตัวกลายพันธุ์ดั้งเดิม

ในผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Lancet Microbe ยังพบด้วยว่าแม้แอนติบอดีที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อครั้งก่อน สามารถป้องกันการล้มป่วยจากการติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่สำหรับตัวกลายพันธุ์แกมมาแล้ว ร่างกายจำเป็นต้องก่อแอนติบอดีสูงกว่าเดิมถึง 9 เท่าถึงจะถึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้

ผู้เขียนระบุว่า ผลการศึกษาดังกล่าวหมายความว่า ประชาชนที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ยังอาจกลับมาติดเชื้อได้อีก

อย่างไรก็ตาม พวกเขาเน้้นว่าด้วยการทดลองทางคลินิกบ่งชี้่ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออาการหนักและเสียชีวิต จึงมีความเป็นไปได้ว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเป็นอะไรที่ซับซ้อนมากๆ

วัคซีนโคโรนาแวคได้รับอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลกในเดือนมิถุนายน

ในช่วงเวลาดังกล่าวองค์การอนามัยโลกระบุว่า มันมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการเพียง 51% แต่ป้องกันการติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล 100%

อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองโคโรนาแวคขั้น 3 ในตุรกี ซึ่งยังไม่นับรวมตัวกลายพันธุ์ ที่เผยแพร่ในวารสารเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว พบว่าวัคซีนโคโรนาแวคมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการถึง 83.5% และป้องกันการติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล 100% หากฉีดครบ 2 เข็ม

การศึกษาดังกล่าวประกอบด้วยอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนจริง 6,559 คน และอีก 3,470 คนได้รับวัคซีนหลอก ทั้งหมดเป็นวัยผู้ใหญ่อายุระหว่าง 18 ถึง 59 ปี และฉีดวัคซีนแต่ละเข็มห่างกัน 14 วัน

ผู้เขียนผลการศึกษาระบุว่า การทดลองนี้มีข้อจำกัดต่างๆ ในนั้นรวมถึงอาสาสมัครเป็นกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 60 ปี และเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ พร้อมเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในหมู่วัยผู้ใหญ่และเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เช่นเดียวกับตัวกลายพันธุ์ใหม่ๆ

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น