xs
xsm
sm
md
lg

มีความหวัง! ผลวิจัยพบชะลอรับวัคซีน “แอสตร้าฯ” เข็ม 2/ฉีดร่วม “ไฟเซอร์” ยิ่งเพิ่มภูมิคุ้มกันโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การใช้วัคซีนต่างชนิด โดยฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า จะก่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นกว่าการรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าซ้ำอีก ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดระบุเมื่อวันจันทร์ (28 มิ.ย.) ขณะเดียวกันก็พบว่าการชะลอฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 และ 3 ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น

ผลการวิจัยภายใต้ชื่อโครงการ Com-COV ที่จัดตารางการฉีดวัคซีนสองสูตรดังกล่าวร่วมกัน โดยทิ้งช่วงระยะเวลาต่างๆ กันออกไป เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการผสมวัคซีน พบว่าไม่ว่าจะเว้นช่วงห่างเพียงใด การใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าร่วมกับวัคซีนของไฟเซอร์ ล้วนช่วยทำให้เกิดสารแอนติบอดี้ในปริมาณที่สูงมากเพื่อต่อต้านการเพิ่มขึ้นของโปรตีนโคโรนาไวรัสได้อย่างดี

ข้อมูลการวิจัยนี้เป็นการสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลบางประเทศในยุโรปที่เริ่มนำเสนอวัคซีนตัวอื่นสำหรับเข็มที่ 2 ที่ไม่ใช่ของแอสตร้าเซเนก้า หลังมีรายงานเกี่ยวกับปัญหาลิ่มเลือดของผู้รับวัคซีนตัวดังกล่าว

แมทธิว สเนป ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ผู้อยู่เบื้องหลังการวิจัยครั้งนี้ ระบุว่า แม้การค้นพบช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นในการวางแผนแจกจ่ายวัคซีน แต่มันไม่มากพอที่ใช้เป็นคำแนะนำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้าวขวางในแผนการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกมาแล้ว

“แน่นอนว่ามันน่าดีใจที่การตอบสนองแอนติบอดี้และที-เซลล์ออกมาดูดีเมื่อฉีดร่วมกัน” เขาบอกกับผู้สื่อข่าว “แต่ผมคิดว่าควรคงหลักปฏิบัติไว้ตามเดิม ยกเว้นแต่ในเหตุผลที่มีความจำเป็น เนื่องจากมันพิสูจน์แล้วว่าได้ผล” สเปนกล่าวอ้างถึงการฉีดวัคซีนสูตรเดียวทั้งสองเข็มที่ผ่านการประเมินในการทดลองทางคลินิกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการ 830 คน และได้รับการฉีดวัคซีนห่างกัน 4 สัปดาห์ และพบว่าการฉีดเข็มแรกด้วยวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและเข็มที่สองเป็นของไฟเซอร์นั้นจะช่วยก่อการตอบสนองของที-เซลล์ได้ดีกว่า เช่นเดียวกับก่อการตอบสนองของแอนติบอดี้ได้ดีกว่าการที่ใช้เข็มแรกเป็นของไฟเซอร์ แล้วตามด้วยของแอสตร้าเซนเนก้า

ในสหราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่แนะให้เว้นระยะการฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 8 สัปดาห์ในกลุ่มผู้ที่อายุเกิน 40 ปี และเว้นระยะห่าง 12 สัปดาห์สำหรับผู้ใหญ่ช่วงวัยอื่นๆ

จนถึงตอนนี้มีประชากรวัยผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรแล้วกว่า 80% ได้รับวัคซีนแล้ว 1 เข็ม และ 60% ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม

ทั้งนี้ ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดพบด้วยว่าการชะลอการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดน่าจะเพิ่มความมั่นใจแก่ประเทศที่มีสต๊อกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างจำกัด ว่าการทิ้งช่วงห่างระหว่างวัคซีนเข็มแรกกับเข็มที่ 2 นานถึง 45 สัปดาห์นั้น นำไปสู่การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น แทนที่จะลดน้อยลง

นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนเสริมเข็มที่ 3 หลังจากเข็มที่ 2 นานกว่า 6 เดือนก็น่าทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ “เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” เช่นกัน และกระตุ้นให้เกิด “การเพิ่มขึ้นอย่างมาก” ด้านการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน

อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีรายงานว่า ผลการศึกษาฉบับนี้เป็นผลงานก่อนการตีพิมพ์ ซึ่งหมายความว่ายังไม่ผ่านการทบทวนจากนักวิจัยคนอื่น

แอนดรูว์ พอลลาร์ด หัวหน้าทีมวิจัยของการทดลองของออกซฟอร์ด กล่าวว่า ผลที่ได้น่าจะเป็นข่าวที่สร้างความมั่นใจแก่ประเทศทั้งหลายที่มีวัคซีนอย่างจำกัด และอาจกังวลเกี่ยวกับการชะลอการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แก่ประชากร “มีผลการตอบสนองที่ดีเยี่ยมของเข็มที่ 2 ถึงแม้ว่าจะฉีดห่างจากเข็มแรก 10 เดือน” เขากล่าว

พวกนักวิจัยระบุว่า ผลการทดลองสำหรับเลื่อนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าโดสที่ 3 ออกมาเป็นบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่บรรดาประเทศต่างๆ ที่มีความคืบหน้าในโครงการฉีดวัคซีน กำลังพิจารณาว่าจะฉีดวัคซีนกระตุุ้นเข็มที่ 3 หรือไม่ เพื่อก่อภูมิคุ้มกันที่ยืนยาว

“ไม่มีใครรู้ บางทีวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจมีความจำเป็น เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลง หรือเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อต้านไวรัสตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวล” เทเรซา แลมบี หนึ่งในนักวิจัยระบุ พร้อมอธิบายถึงผลการวิจัยพบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าช่วยเพิ่มการตอบสนองของแอนติบอดี้อย่างมีนัยสำคัญ

แลมบีระบุว่า ผลการวิจัยออกมาในแง่บวก “หากเราพบว่าวัคซีนเข็มที่ 3 นั้นมีความจำเป็น”

(ที่มา : รอยเตอร์ส/เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น