อินโดนีเซียเร่งนำเข้าออกซิเจนทางการแพทย์จากสิงคโปร์ในวันอังคาร (6 ก.ค.) พร้อมขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงจีน เตรียมการรับมือสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งวันละ 50,000 คน ส่วนทางด้านอิสราเอลเผยประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ในการป้องกันการติดเชื้อลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวกลายพันธุ์ “เดลตา” เริ่มระบาด
เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียเผยว่า สิงคโปร์จะจัดส่งเครื่องผลิตออกซิเจนราว 1,000 เครื่องให้ ซึ่งบางส่วนอาจจัดส่งด้วยเครื่องบินลำเลียงเฮอร์คิวลิส และถึงอินโดนีเซียในวันอังคาร (6)
ลูฮุต บินซาร์ ปันด์จัยตัน รัฐมนตรีอาวุโสของอินโดนีเซีย เผยว่า ได้ติดต่อสิงคโปร์ จีน และประเทศอื่นๆ เพื่อนำเข้าออกซิเจนที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก หลังจากเมื่อจันทร์ (5) ได้สั่งให้ผู้ผลิตในประเทศทั้งหมดจัดส่งออกซิเจนให้โรงพยาบาลต่างๆ พร้อมเตือนว่า อินโดนีเซียอาจเผชิญสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึงวันละ 50,000 คน จากการระบาดของไวรัสตัวกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดีย
ลูฮุต เสริมว่า รัฐบาลยังจัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการนำอาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ซึ่งมีความเหมาะสม มาดัดแปลงให้เป็นสถานที่กักกันโรคชั่วคราว
ขณะเดียวกัน บูดี กูนาดี ซาดิกิน รัฐมนตรีสาธารณสุข เผยว่า รัฐบาลได้จัดหาเตียงเพิ่มเกือบ 8,000 เตียงในกรุงจาการ์ตาและปริมณฑล รวมทั้งกำลังจับตาสถานการณ์ในเกาะสุมาตราและแถบกาลิมันตันอย่างใกล้ชิด
วันจันทร์ที่ผ่านมา อินโดนีเซียทำลายสถิติทั้งในส่วนผู้ติดเชื้อใหม่ 29,745 คน และผู้เสียชีวิต 558 คน ขณะที่รัฐบาลต้องประกาศใช้มาตรการจำกัดกิจกรรมความเคลื่อนไหวของประชาชนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ท่ามกลางการระบาดหนักทั้งในจาการ์ตา เกาะชวา และเกาะบาหลี
โรงพยาบาลมากมายไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่มได้อีกต่อไป บีบให้ประชาชนต้องพยายามหาถังออกซิเจนเพื่อใช้ดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้านเอง
ทั้งนี้ อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก พบผู้ติดเชื้อโควิดใหม่รายวันเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวในช่วงเวลาไม่ถึงเดือน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมราว 2.3 ล้านคน เสียชีวิต 61,140 คน ซึ่งเชื่อกันว่าตัวเลขจริงจะสูงกว่านั้นมากเนื่องจากแดนอิเหนามีการตรวจหาผู้ติดเชื้อน้อยมาก ซ้ำระบบติดตามผู้สัมผัสโรคยังไม่มีประสิทธิภาพ
อินโดนีเซียตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชาชน 180 ล้านคน จากทั้งหมดเกือบ 270 ล้านคนภายในต้นปีหน้า ทว่า จนถึงขณะนี้มีประชาชนเพียง 5% ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม
ประสิทธิภาพไฟเซอร์ลด
ที่อิสราเอล กระทรวงสาธารณสุขแถลงเมื่อวันจันทร์ (5) ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคในการป้องกันการติดเชื้อและอาการป่วยไม่รุนแรง ได้ลดลงเหลือ 64% นับจากวันที่ 6 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่สายพันธุ์เดลตาเริ่มระบาดในอิสราเอล ขณะที่รัฐบาลก็ยกเลิกพวกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิดยังสูงถึง 93%
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลได้ออกรายงานระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ 2 โดสมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และอาการป่วยรุนแรงได้กว่า 95%
โฆษกไฟเซอร์ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแถลงการณ์ของอิสราเอล แต่กล่าวถึงงานวิจัยฉบับหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนยังสามารถต่อต้านไวรัสทุกสายพันธุ์ที่ทำการทดสอบ ซึ่งรวมถึงเดลตา แม้อาจต้านทานได้น้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ก็ตาม
ชาวอิสราเอลราว 60% จากทั้งหมด 9.3 ล้านคนได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้วอย่างน้อย 1 โดสในโครงการรณรงค์ที่ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงจากกว่า 10,000 คน เหลือเป็นตัวเลขหลักเดียวเมื่อเดือนที่แล้ว
ทว่า ความสำเร็จดังกล่าวทำให้รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเกือบทั้งหมด แม้เมื่อไม่กี่วันนี้มีการฟื้นคำสั่งสวมหน้ากากกลับมาบังคับใช้ก็ตาม หลังจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาเริ่มระบาด ซึ่งนับจากนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึง 343 คนเมื่อวันอาทิตย์ (4) ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่อาการหนักเพิ่มจาก 21 คน เป็น 35 คน
กระนั้น อีราน เซกัลป์ นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลของสถาบันวิทยาศาสตร์เวซแมนน์ของอิสราเอล เชื่อว่า ไม่มีแนวโน้มที่อิสราเอลจะเผชิญสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวนมากแบบเมื่อต้นปี เขายังสนับสนุนการกลับไปใช้ชีวิตปกติโดยไม่ต้องมีข้อจำกัดใดๆ ควบคู่กับการที่รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนและตรวจคัดกรองชาวอิสราเอลที่เดินทางกลับประเทศ
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ดูเหมือนเชื่อแนวทางนี้เช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันจันทร์ได้เปิดเผยแผนการยกเลิกข้อจำกัดป้องกันการระบาดส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงการสวมหน้ากากและการเว้นระยะห่างทางสังคม ตั้งแต่วันที่ 19 ที่จะถึง
จอห์นสัน ระบุว่า วิกฤตไวรัสยังไม่จบ แต่ประสิทธิภาพของโครงการเร่งรัดฉีดวัคซีนช่วยให้อังกฤษสามารถเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการจำกัด และเปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจเกี่ยวการดูแลสุขภาพของตัวเอง
ล่าสุด คนอังกฤษราว 86% ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว และ 63% ฉีดครบ 2 เข็ม
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)