รถไฟสีแดงใช้ฟรี 3 เดือน “ศักดิ์สยาม” เร่ง รฟท.เซตตั๋วเดือนคุมราคา 12-42 บาท เผยจ่ายแรกเข้าครั้งเดียวนั่งจาก MRT สีน้ำเงินเข้าสีแดง สั่งลุยประมูลส่วนต่อขยาย 4 สาย 6.7 หมื่นล้านปลายปีนี้ ส่วนระบบ O&M บริหารเดินรถ คาด 2-3 ปีเปิด PPP ได้
วันนี้ (2 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Soft Opening) ผ่านระบบออนไลน์จากทำเนียบรัฐบาลมายังสถานีกลางบางซื่อ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม รับหน้าที่ส่งประชาชนเที่ยวปฐมฤกษ์ ณ สถานีกลางบางซื่อ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบคมนาคมขนส่งทางราง” ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งพัฒนาระบบคมนาคมทางรางอย่างต่อเนื่อง ทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ รวมถึงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อเชื่อมต่อทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทาง ขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจ เร่งรัด และติดตามความก้าวหน้าของทุกโครงการมาโดยตลอด
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รถไฟสายสีแดงจะเปิดบริการให้ประชาชนร่วมทดลองนั่งฟรี ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงปลายเดือน พ.ย. 2564 จากนั้นจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเดือน พ.ย. 2564 โดยจะต้องรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไรด้วย
ทั้งนี้ สถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางในการเดินทางระบบรางของประเทศไทย ซึ่งนอกจากรถไฟสายสีแดงจะมีบริการรถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนแล้ว ยังมีทางเดินเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินเพื่ออำนวยความสะดวก และตลอดแนวเส้นทางของสายสีแดง ยังมีจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง สีเขียวในอนาคตอีกด้วย เป็นเส้นทางที่มีเครือข่ายที่สมบูรณ์ยกระดับการคมนาคมทางรางและจะเป็นระบบหลักในการเดินทางของคนไทย เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย และแก้ปัญหาจราจรติดขัด และลดฝุ่น PM 2.5
“รฟท.ต้องพิจารณารายละเอียดมากกว่าปกติ โดยเฉพาะการบริหารความถี่เดินรถที่เหมาะสม ในช่วงที่มีคนเดินทางมาก ช่วงมีคนใช้น้อย เพื่อความคุ้มค่า เพราะการเดินรถแต่ละเที่ยวจะมีค่าใช้จ่ายคงที่ ต้องดูรายได้ที่จะเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตาม ขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมทดลองใช้เส้นทางบางซื่อ-รังสิตใช้เวลา 25 นาที เส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน ใช้เวลา 15 นาทีเท่านั้น ขณะที่รถยนต์ใช้เวลามากกว่า 1 ชม.”
สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟสายสีแดงนั้น กระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับการรรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งหลักการคิดค่าโดยสารต้องเริ่มจากอัตราค่าแรกเข้า ซึ่งอ้างอิงจาก Standardization ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ให้ตัวเลขไว้เมื่อปี 2544 ที่ 10 บาท และคูณด้วย CPI Non- Food and Beverage ค่าดัชนี CPI อยู่ที่ 1.88 บาท จึงปัดเป็นค่าแรกเข้าที่ 12 บาท ส่วนราคาในการเดินทางแต่ละสถานีจะอยู่ที่ประมาณ 2.1 บาท/กม. ปัดเศษเหลือ 2 บาท ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 42 บาท ในแต่ละเส้นทาง
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ สนข.และกรมรางศึกษาตั๋วพิเศษ ตั๋วเดือน สำหรับผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ด้อยโอกาส เพื่อช่วยลดค่าครองชีพได้อีก อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน มายังสายสีแดงนั้นจะไม่คิดค่าแรกเข้าหรือจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวที่ต้นทาง ส่วนการเดินทางจากสีแดงเชื่อมเข้าระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินนั้นเบื้องต้นยังคงต้องจ่ายค่าแรกเข้า MRT โดยจะมีการเจรจากับเอกชนเพื่อให้เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว
ทั้งนี้ ให้ รฟท.ศึกษาในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อนำรายได้มาชดเชยค่าโดยสาร รวมถึงให้ดูแลค่าใช้จ่ายของรถไฟสายสีแดงได้คุ้มทุน โดยมอบหมายให้ นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิจารณาหลัก คือ ให้โครงการบริการได้และอยู่รอด ซึ่งโครงการรถไฟสายสีแดง รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหมด และประมาณ 2-3 ปีข้างหน้าจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M)
@คาดประมูลก่อสร้างสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางปลายปี 64-ต้นปี 65
นายศักดิ์สยามกล่าวถึงรถไฟสายสีแดง ส่วนต่อขยายจำนวน 4 เส้นทางว่า ขณะนี้ได้ให้ รฟท.เร่งรัดดำเนินการประมูลก่อสร้างงานโยธาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติแล้ว คาดว่าจะประมูลได้ช่วงปลายปี 2564-ต้นปี 2565 ส่วนรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) สายสีแดงซึ่ง รฟท.อยู่ระหว่างศึกษานั้น จะปรับเป็นการ PPP เฉพาะงานเดินรถและซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance : O&M) ทั้งส่วนแรกและส่วนต่อขยาย
สำหรับรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง วงเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1. สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท, 2. สีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. กรอบวงเงิน 10,202.18 ล้านบาท 3. สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท ครม.อนุมัติเมื่อปี 2562 และ 4. สีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท ครม.อนุมัติตั้งแต่ปี 2559
@จัดความถี่ช่วงทดลองฟรี เส้นทางละ 78 เที่ยวต่อวัน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า ในช่วงการทดลองเปิดให้ใช้บริการสายสีแดงนั้นจะให้บริการ ระหว่างเวลา 06.00-20.00 น. โดยเดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วน 07.00-09.30 น. และ 16.30-19.30 น. ทุก 15 นาที นอกเวลาเร่งด่วน ทุก 30 นาที รวมเส้นทางละ 78 เที่ยวต่อวัน ทั้งนี้ รฟท.จะจำกัดจำนวนผู้โดยสารทุกประเภทในขบวนรถ และสถานีไม่เกิน 50% ตามมาตรการรักษาระยะห่าง ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในช่วงบางซื่อ-รังสิต จะรองรับผู้โดยสารได้ 855 คนต่อเที่ยว จากปกติรองรับได้ 1,710 คนต่อเที่ยว และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน รองรับได้ 560 คนต่อเที่ยว จากปกติรองรับได้ 1,120 คนต่อเที่ยว