วันที่ 2 ส.ค. 2564 ขบวนรถไฟชานเมืองสายสีแดง จะได้ฤกษ์เปิดหวูดวิ่งออกจากสถานีกลางบางซื่อ ไปยังปลายทางสถานีรังสิต และสถานีตลิ่งชัน ในเวลา 10.29 น. ซึ่งเป็นขบวนปฐมฤกษ์ ก่อนที่จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการในเวลาถัดไป โดยในวันนั้น จะมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดรูปแบบออนไลน์ พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย ในฐานะผู้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การเปิดรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน นับเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หลังจากรอคอยมากว่า 10 ปี เนื่องจากโครงการดังกล่าว ได้เริ่มการก่อสร้างในส่วนแรก (สายสีแดงอ่อน) เมื่อปี 2552 แล้วเสร็จเมื่อปี 2554 และโครงการส่วนที่ 2 (สายสีแดงเข้ม) รวมถึงอาคารสถานีกลางบางซื่อ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2556 แล้วเสร็จเมื่อปี 2562 นำมาสู่การเตรียมเปิดทดลองให้บริการ 2 ส.ค.นี้ และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบใน พ.ย. 2564
มาดูกำหนดการกันว่า ในวันที่ 2 ส.ค.นี้ พิธีประวัติศาสตร์มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง โดยในวันนั้น ช่วงเวลา 10.00 น. การรถไฟฯ เตรียมพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Soft Opening) ช่วงบางซื่อ–รังสิต และช่วงบางซื่อ–ตลิ่งชัน โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดในรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
โดยจะเป็นรูปแบบออนไลน์ โดยในเวลา 09.45 น. จะเข้าสู่การถ่ายทอดพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงขบวนปฐมฤกษ์ ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้ว่าการรถไฟฯ และคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมจะพร้อมกันที่สถานีกลางบางซื่อ และในเวลา 10.00 น. พลเอก ประยุทธ์ พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรี และ ครม. จะพร้อมกันที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และจะรับชมวีดิทัศน์การเปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง
จากนั้นนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ จะกล่าวต้อนรับ และนายศักดิ์สยาม กล่าวรายงานความพร้อมในการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ก่อนที่พลเอก ประยุทธ์ จะกล่าวแสดงความยินดี และทำพิธีเปิดทดลองใช้บริการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงขบวนปฐมฤกษ์ โดยในเวลา 10.29 น. ขบวนรถไฟสายสีแดงขบวนปฐมฤกษ์เส้นทางบางชื่อ–รังสิต และบางซื่อ–ตลิ่งชัน จะออกจากสถานีกลางบางซื่อ ส่วนการให้ประชาชนทดลองใช้นั้น จะเป็นขบวนถัดไป หรือเวลาประมาณ 10.30 น. ซึ่งจะปล่อยขบวนรถทั้งจากฝั่งบางซื่อ–รังสิต, บางซื่อ–ตลิ่งชัน, รังสิต–บางซื่อ และตลิ่งชัน–บางซื่อ
ต้องยอมรับว่า จากสถานการณ์โควิด-19 และให้สอดคล้องกับมติ ศบค. การทดลองให้บริการดังกล่าว จะจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 50% ของความจุผู้โดยสาร หรือให้บริการได้ 550 คน/ขบวน จากทั้งหมดใน 1 ขบวน จำนวน 4 โบกี้ รองรับผู้โดยสารได้ 1,100 คน/ขบวน แต่หากมีความต้องการของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มโบกี้ได้เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสาร และเป็นไปตามมาตรการที่กำหนด
สำหรับการทดลองใช้รถไฟชานเมืองสายสีแดงนั้น จะให้บริการบริเวณประตู 1 ทั้งทางด้านหน้าและด้านหลังเท่านั้น โดยจะแบ่งโซนแยกออกจากการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะให้บริการประตู 2-3-4 และเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนที่ต้องการทดลองใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงนั้น ยังสามารถใช้อุโมงค์ทางเชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) สถานีบางซื่อได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย โดยจะสามารถเดินถึงบริเวณจุดจำหน่ายตั๋วของรถไฟสายสีแดงได้เลย ซึ่งในขณะนี้มีความพร้อม 100%
สำหรับการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงนั้น เพื่อทดลองการเดินรถให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการ โดยมีการเชื่อมต่อการเดินทางกับการขนส่งประเภทต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วง พ.ย. 2564 โดยนายศักดิ์สยาม ได้ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ทั้งในด้านการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน และด้านการให้บริการระบบรถไฟฟ้า ให้มีความเหมาะสม ลดผลกระทบ ทั้งด้านการจราจรที่จะเกิดขึ้น และด้านความสะดวกของประชาชนบนหลักการให้มีผลกระทบต่อประชาชนผู้มาใช้บริการให้น้อยที่สุด
ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อให้การเดินทางของประชาชน เป็นไปด้วยความสะดวกสบาย นายศักดิ์สยาม จึงได้สั่งการให้ดำเนินการการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อการเดินทางเพื่อให้มีรถโดยสารประจำทางหมวด 1 กรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และรถโดยสารประจำทางหมวด 4 รองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงทุกสถานี และปรับปรุงป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้มีความเหมาะสมในการเชื่อมต่อการเดินทาง
นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตั้งป้ายแนะนำสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีแก่ประชาชน จำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีตลิ่งชัน สถานีบางบำหรุ สถานีบางซ่อน และสถานีรังสิต และดำเนินการในส่วนสถานีที่เหลือต่อไป รวมถึงจัดทำระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่รังสิตเพื่อเป็น Feeder ให้กับรถไฟฟ้าสายสีแดง
โดยมีโครงการนำร่อง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต–ธัญญบุรีคลอง 7 สายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต–ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และสายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต–แยก คปอ. (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อให้เป็นทางเลือกในการเดินทางเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล อีกทั้ง การทำช่องทางรถประจำทางแบบเฉพาะ (Buslane/Busway) ซึ่งจะทำให้รถประจำทางวิ่งได้อย่างต่อเนื่องลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดการใช้พลังงาน และลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมือง
สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ–รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร (กม.) มี 10 สถานีกลางบางซื่อ, สถานีจตุจักร, สถานีวัดเสมียนนารี, สถานีบางเขน, สถานีทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่, สถานีการเคหะ, สถานีดอนเมือง, สถานีหลักหก และสถานีรังสิต ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 25 นาที และช่วงบางซื่อ–ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. มี 3 สถานีได้แก่ สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 15 นาที
นับเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ในการเตรียมเปิดฉากการให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การยกระดับการคมนาคมขนส่งระบบรางของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน