“ศักดิ์สยาม” สั่งหน่วยงานบูรณาการ เชื่อมการเดินทางระบบขนส่งอื่น พร้อมลุยส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ภายในปลายปี 64 - ต้นปีหน้า
วันนี้ (2 ส.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับสถานีกลางบางซื่อเป็นโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2556 และแล้วเสร็จในปี 2564
ทั้งนี้ รถไฟชานเมืองสายสีแดงที่เปิดให้บริการในวันนี้นั้น ถือเป็นการทดลองให้บริการประชาชน โดยไม่คิดค่าโดยสาร ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในช่วงปลาย พ.ย. 2564 โดยการรถไฟฯ มอบหมายให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟฯ ที่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้ามามากกว่า 10 ปี เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดง
โดยในช่วงการทดลองเปิดให้ใช้บริการนั้น จะเดินรถทุก 30 นาที ระหว่างเวลา 06.00-20.00 น. และทุกๆ 15 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน เวลา 07.00-09.30 น. และเวลา 16.30-19.30 น. รวมเส้นทางละ 78 เที่ยวต่อวัน ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ จะจำกัดจำนวนผู้โดยสารทุกประเภทในขบวนรถ และสถานีไม่เกิน 50% เพื่อเป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยรองรับผู้โดยสารในช่วงบางซื่อ-รังสิตได้ 855 คนต่อเที่ยว จากปกติรองรับได้ 1,710 คนต่อเที่ยว และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ได้ 560 คนต่อเที่ยว จากปกติรองรับได้ 1,120 คนต่อเที่ยว นอกจากนี้ จะให้ใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อประตู 1 เท่านั้น ส่วนการฉีดวัคซีน จะเป็นประตู 2-3-4
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงครั้งนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดและลดระยะเวลาในการเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยใช้เวลาเดินทางจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีรังสิต เพียง 25 นาที และจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีตลิ่งชัน เพียง 15 นาที เท่านั้น โดยการรถไฟฯ จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่เก็บค่าโดยสารไปจนถึงปลายปี 2564 หลังจากนั้น จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุดในอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยคิดค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาท และค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท
“การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้ ถือเป็นปฐมบทของการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย ที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำและจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งเสริมการเดินทางของผู้ใช้บริการ ช่วยเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความสุขให้พี่น้องคนไทยตลอดไป โดยการพัฒนาโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ได้รับการสนับสนุนด้านเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้ามาแล้วหลายโครงการ นับเป็นความร่วมมือที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” นายศักดิ์สยาม กล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดบูรณาการความร่วมมือดำเนินงานส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางในทุกรูปแบบการเชื่อมต่อสถานีกับระบบขนส่งมวลชนอื่น ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟฯ ได้ร่วมกันปรับปรุงการเดินทางในทุกโหมด เพื่อรองรับการเชื่อมต่อสถานีรถไฟสายสีแดง
ทั้งนี้ มีการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางรองรับการเชื่อมต่อสถานีรถไฟสายสีแดง การบริหารจัดระเบียบรถแท็กซี่ และรถโดยสารสาธารณะ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่างๆ ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเชื่อมต่อที่สถานีกลางบางซื่อ รถไฟฟ้าสายสีม่วงเชื่อมต่อที่สถานีบางซ่อน สนามบินนานาชาติดอนเมืองเชื่อมต่อด้วยทางเดิน Skywalk ที่สถานีดอนเมือง และในอนาคตจะมี Skywalk เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ที่สถานีหลักสี่ รวมถึง Skywalk เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีบางเขน
นอกจากนี้ ยังเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายรถไฟทางไกลของการรถไฟฯ รวมถึงเชื่อมต่อกับระบบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา และระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2568 อีกทั้ง การรถไฟฯ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาส่วนต่อขยายไปยังสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) สถานีศาลายา (มหาวิทยาลัยมหิดล) สถานีธนบุรี-ศิริราช สถานีหัวหมาก และสถานีหัวลำโพง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการภายในปลายปีนี้ หรือต้นปี 2565 และยังมีแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้งในอาคารสถานีและพื้นที่รอบสถานีเพื่อให้มีการพัฒนาสถานี และพัฒนาเมืองในรูปแบบ Smart City ควบคู่ไปด้วย
สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ, จตุจักร, วัดเสมียนนารี, บางเขน, ทุ่งสองห้อง, หลักสี่, การเคหะ, ดอนเมือง, หลักหก และรังสิต ระยะทางรวม 26 กิโลเมตร (กม.) และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 3 สถานี ประกอบด้วย บางซ่อน, บางบำหรุ และตลิ่งชัน ระยะทางรวม 15 กม. โดยจะใช้ขบวนรถไฟเป็นรถไฟฟ้าแบบ Electric Multiple Unit (EMU) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยลดปัญหามลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ระบบควบคุมการเดินรถตามมาตรฐานสากล ในทุกขบวนมีพื้นที่รองรับการให้บริการ และอำนวยความสะดวกกับผู้พิการตามหลักอารยสถาปัตย์ (universals design)