วันนี้ (2 สิงหาคม) รถไฟฟ้าสายสีแดง จะเริ่มเดินรถทดลองประชาชนใช้ฟรี เป็นเวลา 3 เดือน ก่อนจะเก็บค่าโดยสารในเดือนพฤศจิกายน เป็นรถไฟฟ้าสายล่าสุดของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เปิดให้บริการ โดยเริ่มต้นที่สถานีรถไฟรังสิต วิ่งมาตามแนวรางรถไฟเข้ากรุงเทพฯ มาถึงสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปสิ้นสุดที่สถานีตลิ่งชัน รวมระยะทางทั้งสิ้น 41 กิโลเมตร
รถไฟฟ้าสายสีแดงนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยใช้เงินกู้จากไจก้า หรือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ประมาณ 80,000 ล้านบาท จากวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 97,000 ล้านบาท และบริหารการเดินรถเอง โดย บริษัทลูก คือ บริษัทรถไฟฟ้า รฟท.ซึ่งเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ในปัจจุบัน แต่จะมีการส่งมอบแอร์พอร์ตลิงก์ให้กับกลุ่มซีพี ที่เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในเดือนตุลาคมนี้
โครงการนี้ถูกยกให้เป็น “มหากาพย์ “ เพราะใช้เวลานานถึง 14 ปี มีการเพิ่มงบประมาณในเส้นทางช่วงบางซื่อ-รังสิต 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1 หมื่นกว่าล้านบาท ทำให้งบลงทุนบานปลายทะลุ 1 แสนล้านบาท และต้องเลื่อนการเปิดบริการจากเดิมที่กำหนดไว้ต้นปีนี้
รถไฟฟ้าสายสีแดง แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจากบางซื่อ-ตลิ่งชัน ช่วงที่สอง บางซื่อ-รังสิต ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2555 แต่เปิดเดินรถไม่ได้ เพราะยังไม่มีระบบเดินรถ และขบวนรถ เนื่องจากสัญญาติดตั้งระบบ และจัดซื้อรถถูกดึงมาไว้กับการก่อสร้างช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งเริ่มลงมือก่อสร้างในปี 2556
ทางรถไฟ และสถานีช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สร้างเสร็จแล้ว จึงถูกทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้งานนานถึง 8 ปี จนช่วงบางซื่อ-รังสิตเสร็จแล้ว มีการติดตั้งระบบเดินรถ ว่าจ้างบริษัทฮิตาชิ ให้สร้างขบวนรถ การรถไฟฯ ต้องใช้งบประมาณอีก 140 ล้านบาทปรับปรุงสภาพราง และสถานีช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ให้พร้อมใช้งาน
อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะเป็นเท่าไร ก่อนหน้านี้ประมาณต้นปี กรมขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งระบบราง เคยประกาศว่า จะให้เก็บค่าโดยสารตามระยะทางระหว่าง 14-42 บาท แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่า ค่าโดยสารจะเป็นเท่าไรกันแน่ เพราะเกรงว่า จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว 65 บาทซึ่งเป็นอัตราที่บีทีเอสตั้งไว้ แลกกับการขยายสัมปทานไป 30 ปี
รถไฟฟ้าสายสีเขียว มีระยะทางรวม 68 กิโลเมตร ค่าโดยสารสูงสุดตามข้อเสนอของบีทีเอส 65 บาท คำนวณง่ายๆ ให้เห็นภาพเฉลี่ยกิโลเมตรละ 0.95 บาท รถไฟฟ้าสายสีแดงระยะทาง 41 กิโลเมตร หากเก็บค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท ตามที่กรมขนส่งทางราง และรัฐมนตรีคมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เคยประกาศไว้เมื่อต้นปีนี้ จะตกกิโลเมตรละ 1.02 บาท
รถไฟฟ้าสายสีแดงแพงกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งยังไม่รวมผลประโยชน์ที่บีทีเอสต้องจ่ายให้ กทม.ขั้นต่ำ 2 แสนล้านบาท หากได้ต่อสัมปทานไปอีก 30 ปี
ด้วยเหตุนี้ รฟท.และกระทรวงคมนาคม จึงไม่กล้าประกาศอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ชัดเจน เพราะถ้าเก็บสูงสุด 42 บาท จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทันที กระทรวงคมนาคม และพรรคภูมิใจไทยที่เคยให้ข้อมูลกับประชาชนว่า ค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว 65 บาทตลอดสายแพงเกินไป จะถูกย้อนศรเข้ากลางอกแน่นอน
จะเก็บให้ถูกกว่านี้เป็นไปไม่ได้ เพราะจะต้องแบกรับภาระขาดทุนมโหฬาร แบบเดียวกับที่รถไฟ รถเมล์ขาดทุนบักโกรกอยู่ในตอนนี้ เพราะเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนมาก
รถไฟฟ้าสายสีแดงกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีเส้นทางที่ขนานกัน อาจจะเรียกว่า เป็นคู่แข่งก็ได้ คือ ต่างขนผู้โดยสารจากตอนเหนือของกรุงเทพฯ เข้าสู่เมือง สายสีแดงมาทางถนนวิภาวดีรังสิตผ่านย่านที่เป็นสถานที่ราชการ บ้านพักอาศัยในย่านชายขอบของกรุงเทพฯ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อเข้าสู่ย่านธุรกิจ ศูนย์การค้าใจกลางเมือง สายสีเขียววิ่งถึงศูนย์กลางการค้าธุรกิจ ที่พักอาศัยใจกลางเมืองโดยตรง และวิ่งยาวไปถึงสมุทรปราการ
ตารางการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน 15 นาทีต่อขบวน และครึ่งชั่วโมงต่อขบวนนอกชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้ผู้โดยสารต้องรอนานเกินไป แต่ รฟท.คงประเมินแล้วว่า สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่คาดหวัง และขีดความสามารถในการให้บริการ ในช่วงทดลองให้นั่งฟรีนี้
รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทั้งสายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน ถูกโจมตีบ่อยครั้งว่า เก็บค่าโดยสารแพง เพราะเอกชนต้องการกำไรสูงๆ รถไฟฟ้าสายสีแดงซึ่งเป็นของรัฐบาล 100% ลงทุนเอง บริหารจัดการเอง จะเป็นมาตรวัดเปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริหาร และต้นทุนค่าโดยสาร ว่า รัฐทำหรือเอกชนทำ ประเทศชาติและประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า