xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหวูดรถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีน้ำเงินจะล้น?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เดือนสิงหาคม 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ฟรีเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนจะเดินรถเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564

การเดินรถครั้งนี้มาพร้อมกับ “สถานีกลางบางซื่อ” ที่ประกาศตัวว่าเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2,475 ไร่ มีชานชาลาทั้งหมด 24 ชานชาลา รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 624,000 คนต่อวัน

ที่แห่งนี้จะรองรับทั้งรถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟทางไกล บริเวณชั้น 2 และในอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) บริเวณชั้น 3

โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เกิดขึ้นมาจากความพยายามในการแก้ปัญหาจราจร บริเวณจุดตัดทางรถไฟ ด้วยการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ให้ขบวนรถไฟขึ้นไปยังโครงสร้างยกระดับ ส่วนถนนด้านล่างก็ยังสัญจรได้ตามปกติ

หากจำกันได้ ในปี 2533 ก็เคยผลักดัน โครงการโฮปเวลล์ ในรูปแบบทางยกระดับ 3 ชั้น ระยะทาง 60.1 กิโลเมตร แบ่งเป็นทางรถไฟลอยฟ้า และทางด่วน แต่การก่อสร้างล่าช้าแถมเจอวิกฤตเศรษฐกิจ สุดท้ายถูกบอกเลิกสัญญาในปี 2541

กระทั่งในปี 2549 มีการก่อสร้าง รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) ตามแนวเส้นทางโครงการโฮปเวลล์เดิม ช่วงยมราช-หัวลำโพง-หัวหมาก เปิดการเดินรถไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 โดยช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เริ่มก่อสร้างงานโยธา 15 มกราคม 2552 และช่วงบางซื่อ-รังสิต เริ่มก่อสร้างงานโยธา 10 กุมภาพันธ์ 2556

แต่การก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ไม่ได้ใช้โครงสร้างโฮปเวลล์เดิม แต่สร้างคร่อมไปกับถนนกำแพงเพชร 6 ซึ่งจุดที่ยังมีเสาตอม่อโฮปเวลล์ ในอนาคตจะเป็นพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน


สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 กิโลเมตร มีทั้งหมด 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางซ่อน เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน), สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน

และช่วง บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร มีทั้งหมด 9 สถานี ได้แก่ สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง สถานีหลักหก (ม.รังสิต) และสถานีรังสิต

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้มอบหมายให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (SRTET) เป็นผู้เดินรถ โดยพนักงานส่วนหนึ่งโอนย้ายมาจากแอร์พอร์ตเรลลิงก์ อีกส่วนหนึ่งรอโอนย้ายหลังกลุ่มซีพีเข้ามาบริหารแบบเต็มตัว

ขบวนรถไฟที่จะนำมาใช้เป็นยี่ห้อ ฮิตาชิ (HITACHI) จากประเทศญี่ปุ่น มาถึงเมืองไทย 2 ขบวนแรก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2562 มีแบบ 4 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,126 คน และแบบ 6 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,714 คน

เมื่อเปิดให้บริการจริง จะปล่อยขบวนรถทุกๆ 10 นาที โดยช่วงบางซื่อ-รังสิต จะใช้แบบ 6 ตู้ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 นาที ส่วนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะใช้แบบ 4 ตู้ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที

ส่วนค่าโดยสาร เมื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้วจะเก็บตามระยะทาง ช่วงบางซื่อ-รังสิต 12-38 บาท ส่วนบางซื่อ-ตลิ่งชัน 12-27 บาท หากเดินทางจากรังสิตไปตลิ่งชัน เปลี่ยนขบวนรถที่สถานีกลางบางซื่อ จะเสียค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท

อย่างไรก็ตาม การให้บริการในช่วงแรก เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน (WORK FROM HOME) อาจจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการบางตาอยู่บ้าง แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายจะมีผู้โดยสารมากขึ้น

คนที่ต้องการขึ้นเครื่องบินที่ สนามบินดอนเมือง ก็สามารถใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ไปลงที่สถานีดอนเมืองได้ ขณะนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างสกายวอล์กไปยังอาคารผู้โดยสารในประเทศ (Terminal 2) เสร็จแล้ว

อาจจะมีคนสงสัยว่า สกายวอล์กเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่ตรงไหน ถ้าใครเคยไปศูนย์อาหารเมจิกฟู้ดพาร์ค และร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ตรงอาคารจอดรถ 7 ชั้น จะมีทางเชื่อมต่อ แต่ต้องเดินไกลสักหน่อย ถือว่าออกกำลังกายไปในตัว


สิ่งที่น่าเป็นห่วง หลังจากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเต็มรูปแบบก็คือ “สถานีบางซื่อ” ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) อาจจะประสบปัญหาผู้โดยสารที่จะต่อไปยังจตุจักร รัชดาภิเษก สุขุมวิท และสีลมแน่นทะลัก

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ สถานีบางซื่อเป็นสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กระทั่ง รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) เปิดให้บริการ ก็เชื่อมสถานีเตาปูนไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ส่งผลให้ผู้โดยสารสูงถึงเกือบ 6 หมื่นคนต่อวัน

คนที่เดินทางมาจากบางบัวทอง บางใหญ่ ก็จะลงรถที่สถานีเตาปูน แล้วต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อไปต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีสวนจตุจักร (หมอชิต) หรือต่อไปยังย่านธุรกิจสำคัญ เช่น รัชดาภิเษก พระราม 9 อโศก สุขุมวิท ลุมพินี สีลม ฯลฯ

ที่ผ่านมาในชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้า เคยมีผู้โดยสารจากสายสีม่วงต่อคิวแน่นทะลักที่สถานีเตาปูน เพื่อรอขบวนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ไปยังใจกลางเมือง ขณะที่ขบวนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่นำมาให้บริการมีเพียงแค่ 3 ตู้เท่านั้น

ภาพเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2562
ภายหลัง MRT นำเข้ารถไฟฟ้ารุ่นใหม่อีก 35 ขบวน รวมเป็น 54 ขบวน พร้อมเดินรถเสริมจากสถานีเตาปูนในช่วงเวลาเร่งด่วน อีกทั้งผู้โดยสารยังมีทางเลือกคือ ไปขึ้นรถอีกฝั่งหนึ่ง แล้วต่อขบวนรถที่สถานีท่าพระ ปัญหานี้จึงพอบรรเทาลงไปบ้าง

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีรถไฟฟ้ารุ่นแรก 19 ขบวน บรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 886 คน ภายหลังสั่งซื้อรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ 35 ขบวน บรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 1,129 คน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 21.52%

ถ้าสถานีบางซื่อ มีผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีแดง (รังสิต) ลงอุโมงค์เพื่อมาต่อรถจำนวนมาก ประกอบกับผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่) มาต่อรถที่สถานีเตาปูนอยู่แล้ว จะรับมือยังไงไม่ให้เกิดผู้โดยสารทะลัก?

แม้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ที่ผู้คนส่วนหนึ่งต่างทำงานที่บ้าน แต่ถ้าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ และมีผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน มาทำงานที่ออฟฟิศมากขึ้น ปัญหานี้อาจจะเกิดขึ้นมาได้อีก

ทราบมาว่า กระทรวงคมนาคมจะปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทาง ทั้งหมวด 1 เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และหมวด 4 รถเมล์เล็ก หรือรถสองแถว เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงทุกสถานี ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน


ความเห็นส่วนตัว ถ้าเกิดปัญหาดังที่กล่าวข้างต้นจริง อาจจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเพิ่มทางเลือกสถานีก่อนหน้าเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง แทนที่จะไปกระจุกตัวอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพียงอย่างเดียว

เช่น สถานีจตุจักร อยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 ตรงข้ามสถานีเดินรถนครชัยแอร์ มีรถประจำทางออกจากสถานีขนส่งหมอชิต ผ่าน เช่น สาย 3 ไปทางรัชวิภา ห้าแยกลาดพร้าว หรือสาย 49 ไปทางประชานุกูล วงศ์สว่าง สะพานพระราม 7

สถานีวัดเสมียนนารี มีสะพานลอยจากตัวสถานีข้ามถนนวิภาวดีรังสิต ปากซอยวิภาวดีรังสิต 42 มีรถเมล์ที่พอจะไปต่อรถไฟฟ้าได้ เช่น สาย 29, 134, 510 ไปลงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต หรือสาย 206 ไปยังย่านธุรกิจรัชดาภิเษก

ส่วนระยะยาว คงต้องรอให้การรถไฟฯ ดำเนินโครงการ รถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนที่เป็น Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท

โครงการนี้ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานเข้ามาดำเนินการ หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีทางเลือกจากรังสิต ตลิ่งชัน ตรงไปยังใจกลางเมืองมากขึ้น

แต่จะเกิดขึ้นจริงได้เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ ขนาดรถไฟฟ้าไปถึงรังสิต กว่าจะเกิดขึ้นจริงยังต้องรอถึง 31 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น