xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวแก้ระเบียบฯเงินกู้สู้โควิด-19 ให้อำนาจ “สบน.” ทำระบบเบิกจ่ายใหม่ หลังหน่วยงานรัฐ ขอใช้เงิน “สกุลดอลลาร์” ซื้อวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไฟเขียวแก้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตามแผนงาน “เงินกู้สู้โควิด-19” ให้อำนาจ “สบน.” จัดทำระบบเบิกจ่ายเงินกู้ใหม่ เพิ่มกรณีโครงการเสนอใช้เงินกู้ “สกุลต่างประเทศ” เผยเหตุผลเสนอแก้ หลัง “กรมควบคุมโรค” ชงขอใช้เงินกู้ “สกุลเหรียญสหรัฐ” ใช้จัดหาและชำระค่า “วัคซีนโควิด-19” ที่เป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐ ส่วน “สกุลเงินบาท” ให้ใช้ชำระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เป็นเงินสกุลเงินบาทเท่านั้น

วันนี้ (23 ก.ค. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียน มติ ครม. ภายหลังเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ....

ตามที่ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 24/2564 เสนอปรับปรุง เพื่อให้คณะกรรมการใช้ในการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการตามพระราชกำหนดฯ ต่อไป

“เพิ่มข้อความที่เกี่ยวข้องกับกรณีโครงการที่ต้องใช้เงินกู้ เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีหน้าที่และอำนาจจัดทำระบบเบิกจ่ายเงินกู้ในข้อ 7 และ ข้อ 20 ของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ฉบับเดิม”
สำหรับระเบียบฉบับดังกล่าว เดิมในข้อ 7 ให้กรมบัญชีกลาง รับฝากเงินกู้ไว้ในบัญชีเงินฝาก กระทรวงการคลัง (กค.) และจัดทำระบบบัญชีระบบการเบิกจ่ายเงินกู้สำหรับโครงการ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ หรือวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 7 “ใหม่” ให้กรมบัญชีกลาง รับฝากเงินกู้ไว้ในบัญชีเงินฝาก กค. และจัดทำระบบบัญชี ระบบการเบิกจ่ายเงินกู้สำหรับโครงการ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ หรือวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีที่เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินกู้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ มีหน้าที่และอำนาจจัดทำระบบการเบิกจ่ายเงินกู้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 20 ให้ สบน. นำเงินกู้ฝากบัญชีเงินฝาก กค. ชื่อบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19”

เมื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นครบทุกโครงการแล้ว หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินกู้ตามโครงการอีก ให้ สบน. นำเงินกู้ที่เหลือในบัญชีตามวรรคหนึ่ง ส่งคืนคลังและปิดบัญชีดังกล่าว

ข้อ 20 ให้ สบน. นำเงินกู้ฝากบัญชีเงินฝาก กค. ชื่อบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19”

ในกรณีที่กระทรวงการคลังกู้เงินเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ และหน่วยงานเจ้าของโครงการมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ให้ สบน.นำเงินกู้ฝากบัญชีสำหรับใช้ในโครงการดังกล่าวกับสถาบันการเงินตามที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยใช้ชื่อบัญชี “เงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศตาม พ.ร.ก. COVID-19 2563”

เมื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นครบทุกโครงการแล้ว หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินกู้ตามโครงการอีก ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนำเงินกู้ที่เหลือในบัญชีตามวรรคหนึ่งและวรรคสองส่งคืนคลังและปิดบัญชีดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2563 กค. ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ โควิด-19 Active Response and Expenditure Support Program กับธนาคารพัฒนาเอเชีย วงเงินรวม 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสมทบเงินกู้บาทเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ ปัจจุบันวงเงินกู้คงเหลือ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถเบิกจ่ายได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564

ต่อมา 29 มี.ค. 2564 สบน. กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร สำนักงบประมาณ และกรมควบคุมโรค ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับ "แนวทางการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ด้วยเงินกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐ" ซึ่งที่ประชุมมีมติ เห็นชอบให้ "กรมควบคุมโรค" เสนอเรื่องต่อกระทรวงสาธารณสุข พิจารณา เพื่อขอใช้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ โดยใช้เงินกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐ สำหรับค่าวัคซีนโควิด-19 ที่ชำระเป็น เงินสกุลเงินเหรียญสหรัฐและใช้เงินกู้ที่เป็นบาทชำระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เป็นเงินสกุลเงินบาทต่อคณะกรรมการเพื่อเสนอต่อ ครม.

โดยเมื่อ 1 มี.ค. 2564 ครม.ได้อนุมัติโครงการจัดหาวัคซีน สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 35 ล้านโดส ของกรมควบคุมโรค กรอบวงเงิน 6,378.225 ล้านบาท และ มอบหมายให้ สบน. หารือ ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ในประเด็นการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ดังกล่าว โดยส่งมายังสภาพัฒน์เมื่อ 1 ก.ค. 2564.


กำลังโหลดความคิดเห็น