xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยยอดนำ “ไม้ยืนต้น” ใช้ค้ำขอสินเชื่อกว่า 1.25 แสนต้น วงเงินกว่า 134 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” สรุปยอดนำ “ไม้ยืนต้น” มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อแล้ว 125,911 ต้น วงเงินกว่า 134 ล้านบาท มี ธ.ก.ส. กรุงไทย เป็นผู้รับหลักประกัน รวมถึงพิโกไฟแนนซ์ และพิโกพลัส “จุรินทร์” สั่งลุยต่อช่วยเกษตรกร ประชาชน ผู้ประกอบการ ใช้ไม้ยืนต้นค้ำ เพิ่มสภาพคล่องช่วงวิกฤตโควิด-19

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ว่า ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ค. 2564 กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จดทะเบียนไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันแล้ว จำนวน 125,911 ต้น จำนวนเงินที่เป็นหลักประกัน 134,829,112 บาท โดยส่วนใหญ่ใช้ไม้ยืนต้นประเภท ยาง ยางนา ยางพารา สัก มะขาม มะกอกป่า สะเดา ตะโก เป็นต้น มาเป็นหลักประกัน

ส่วนธนาคารที่รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน นอกจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทยแล้ว ยังมีผู้รับหลักประกันอื่นใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน จำนวน 5 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์) วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และพิโกพลัส (สินเชื่อรายย่อยอเนกประสงค์) วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย

“นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ติดตามอย่างใกล้ชิด และให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคอยให้ข้อมูลแก่เกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นโอกาสในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบันมีการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน 32,133 ต้น จำนวนเงิน 4,559,112 บาท ซึ่งเห็นได้ว่าได้ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่เกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการ โดยจะเร่งบูรณาการร่วมกันกับสถาบันการเงินเพื่อการประชาสัมพันธ์ให้ใช้กฎหมายและโครงการนี้เป็นโอกาสต่อไป” นางมัลลิกากล่าว

นางมัลลิกากล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกัน โดยกำหนดให้สามารถนำทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สิน ทำให้ผู้ประกอบการยังคงใช้ทรัพย์สินนั้นได้ต่อไป เป็นการลดข้อจำกัดในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน โดยทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันได้ตามกฎหมาย คือ 1. กิจการ 2. สิทธิเรียกร้อง เช่น สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า 3. สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ 4. อสังหาริมทรัพย์ เฉพาะกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง 5. ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และ 6. ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ไม้ยืนต้น)

จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันได้ โดยประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2561 ซึ่งไม้ยืนต้นทุกชนิดใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินได้ ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาจะตกลงกันว่าจะใช้ไม้ยืนต้นประเภทใดหรือชนิดใดเป็นหลักประกัน โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีหน้าที่เป็นสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ รับจดทะเบียนสัญญาหลักประกัน แก้ไขการจดทะเบียน และยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ตามที่สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้รับหลักประกันนั้นเป็นผู้ให้วงเงินสินเชื่อ และทำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น