xs
xsm
sm
md
lg

ส.พีอาร์ไทยเสนอ 12 แนวทางสื่อสาร สร้างเชื่อมั่นด้าน ศก.ในวิกฤตโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - สมาคมประชาสัมพันธ์ไทยเสนอ 12 แนวทางในการสื่อสาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจไทยภายใต้สถานการณ์ COVID-19

ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ได้กล่าวว่า สมาคมประชาสัมพันธ์ไทยได้นำเสนอบทวิเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจไทย ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของทีมเศรษฐกิจประเทศไทย เพื่อทดแทนจากการลาออกของทีมเดิมที่ผ่านมา แน่นอนว่าย่อมเป็นที่จับตามองถึงการทำงานของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ทั้งในด้านตัวบุคคลและผลงาน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อทิศทางของประเทศในทางตรงต่อการแก้ปัญหาเดิมที่ค้างคาอยู่ รวมถึงการรับมือจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เผชิญไปพร้อมๆ กับประชากรโลก ที่ต้องมีการวางกรอบนโยบาย และการลงมือแก้ไขให้สอดคล้องกับประเทศไทย รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการค้า การลงทุน และภาพลักษณ์ของประเทศ

เป็นที่น่าแปลกใจว่า นอกจากการขับเคลื่อนโครงการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรายบุคคลบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินเยียวยา จากการที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท จนกระทั่งล่าสุดได้มี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของ COVID-19 เพิ่มเติมอีกในวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาทเพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ในบรรดาข่าวคราวความเคลื่อนไหว นอกจากวิธีการ ขั้นตอนการใช้เงินกู้ ปัญหาที่พบจากขั้นตอน การร้องเรียนอันเป็นผลจากโครงการแจกเงินไปยังกลุ่มต่างๆ แล้ว นอกนั้นประชาชนไม่ค่อยได้รับทราบความเคลื่อนไหวทั้งในเชิงนโยบาย การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมต่อการแก้ไขเศรษฐกิจในภาพรวม แน่นอนว่า ทีมเศรษฐกิจอาจกำลังขับเคลื่อนและทำงานอยู่ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเพราะเหตุใดประชาชนจึงไม่ค่อยได้รับทราบข่าวสาร ความเคลื่อนไหวและผลงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเท่าใดนัก

*** เปิดมุมมองสำนักข่าวต่างประเทศ เกี่ยวกับทีมเศรษฐกิจไทย
สำนักข่าว Nikkei และสถานีโทรทัศน์ NHK สื่อดังจากญี่ปุ่น ได้แสดงความคิดเห็นที่ระบุว่า จากการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยนั้น อาจส่งผลต่อโครงการสำคัญที่รัฐบาลกำลังผลักดัน เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC : Eastern Economic Corridor) รวมทั้ง ยุทธศาสตร์ CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP : Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) ที่ญี่ปุ่นให้การสนับสนุน เพื่อถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

ในส่วนของประเด็นที่เกี่ยวข้องทางการเมืองนั้น สถานีโทรทัศน์ NHK ยังวิจารณ์เกี่ยวกับทีมงานรัฐบาลที่มีทหารเข้ามาจำนวนไม่น้อย หรือการทำให้ทหารกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ยิ่งทำให้บทบาทของทหารต่อการเมืองของไทยมีความชัดเจนขึ้น การปรับทีมเศรษฐกิจของรัฐครั้งนี้การใช้เหตุผลทางการเมืองอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะย่อมส่งผลต่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลต้องคำนึงถึงทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจไทยในเวทีนานาชาติ หรือในระดับที่เป็นระหว่างประเทศ ที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นควบคู่กันไปด้วย เพราะหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายในการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนญี่ปุ่น นักลงทุนจีน รวมถึงอีกหลายภูมิภาคไว้ค่อนข้างมาก ดังนั้น การสรรหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ “ทูตเศรษฐกิจ” สานต่อความสัมพันธ์เดิม ทำงานร่วมกับทีมเศรษฐกิจ รวมถึงการวางตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากของรัฐบาลปัจจุบัน

*** COVID-19 พ่นพิษเศรษฐกิจไทย สู่ภาวะถดถอย
จากการประมาณการเดิม เศรษฐกิจไทยปี 2564 ก่อนการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ตัวเลขเศรษฐกิจของหน่วยงานทุกแห่งต่างให้ความเห็นที่ใกล้เคียงกัน เช่น กระทรวงการคลัง ประมาณการที่จะขยายตัวติดลบ 8.5% ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงคาดการณ์ว่าติดลบ 9.4% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะติดลบ 8.1% คณะกรรมการ กกร. (คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) คาดว่าติดลบ 7-9% ทั้งนี้ แน่นอนว่าเกิดจากผลกระทบจากโควิด-19 เป็นประเด็นสำคัญ และแน่นอนว่า หลังจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในต้นปี 2564 ย่อมจะทำให้ตัวเลขการประเมินมีค่าติดลบมากไปกว่าเดิมอีกแน่นอน จึงเป็นภารกิจของทีมเศรษฐกิจ และรัฐบาลที่ต้องเร่งหาแนวทาง กำหนดมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นการเร่งด่วน และมีผลงานที่เข้มข้นขึ้น

แน่นอนว่า การตั้งทีมเศรษฐกิจมาจากรัฐมนตรี มาจากกระทรวงต่างๆ ที่นอกจากจะมาจากพรรคการเมืองที่มีนโยบายแตกต่างกันแล้ว ความรู้ ความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ย่อมไม่เป็นสิ่งยืนยันได้ว่ามีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่ ทีมเศรษฐกิจจากกระทรวงต่างๆ ที่แบ่งตามโควตาพรรคการเมืองอย่างเห็นได้ชัด เป็นทฤษฎีที่ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะไม่ได้เป็นการตอบโจทย์ถึงภาพรวมการบริหารเศรษฐกิจ ในยามที่ประเทศ และโลกกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤต COVID-19 ต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีฝีมือ มาเยียวยาให้คลี่คลาย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งประสิทธิภาพรายบุคคล รวมถึงความเป็นเอกภาพในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่จะรับมือต่อบรรดาผลกระทบได้อย่างเพียงพอ

แนวทางการสื่อสารความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจไทย ภายใต้สถานการณ์ COVID-19
1. การมีบุคคลที่น่าเชื่อถือ มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ ประเด็นด้านความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจนั้นจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเชื่อมั่นของบุคคล หรือทีมงานก่อน ที่ต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับ
2. การมีกลยุทธ์การสื่อสารเชิงรุกที่ทันสมัย และสม่ำเสมอ มีเครื่องมือ ช่องทาง วิธีการที่เข้าถึงสำหรับสร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปได้ทุกกลุ่มแบบเชิงรุก รวมถึงผู้ประกอบการ ด้วยเนื้อหาที่ประชาชนรับรู้ได้ง่าย ตรงใจ และสัมผัสได้
3. การสื่อสารนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน การหาแนวทางสำหรับการเร่งสร้างเสถียรภาพทางการเงินในภาพรวม ไปพร้อมกับการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยราชการอย่างเป็นระบบ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้งการสร้างความสัมพันธ์ โอกาส ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม
4. การนำเสนอ วิธีการการเยียวยาทางด้านอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการลงทุนและอื่นๆ ที่สอดคล้องกับมาตรการทางด้านสาธารณสุข ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
5. การส่งเสริมทางด้านการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ การประกอบธุรกิจ การลงทุน การฟื้นฟูกิจการทั้งในขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ที่รวดเร็ว ทันสถานการณ์
6. การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจการเกษตร การสร้างโอกาสทางด้านเกษตรกรรม เป็นนวัตกรรมทางการเกษตร และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าถึงง่าย
7. การเผยแพร่แนวทางการพัฒนา ฟื้นฟู เยียวยา เสริมศักยภาพธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และนานาชาติ
8. การสำรวจ หาแนวทาง ชี้แจง การเยียวยาภาคประชาชน การแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ผลกระทบ การว่างงาน แรงงานทั่วไป แรงงานคุณภาพ การสร้างรายได้ การเพิ่มทักษะและการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
9. การนำเสนอรูปแบบการพัฒนาโครงสร้างชุมชนให้แข็งแรง ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนและการส่งเสริมการตลาด
10. การเผยแพร่ข้อมูลที่สนับสนุนต่อการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงิน ด้านคุณภาพชีวิตของประชากร ความพร้อมแหล่งการค้าและการลงทุน ความสามารถในการแข่งขันประเทศอื่น ที่มีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวมารองรับ
11. การกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ทันท่วงที ความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค ควบคุมราคาสินค้า และการช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายในการบริโภค คุณภาพชีวิตของประชาชนภายใต้สถานการณ์ COVID-19
12. การแสดงให้เห็นถึงการบริหารงบประมาณแผ่นดินที่สุจริตโปร่งใส รอบคอบ เช่น แผนการหารายได้ การใช้จ่ายที่จำเป็น มีเหตุผล แนวทางการประหยัด ลดและการชะลอการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่จำเป็น เป็นต้น

*** ประเทศไทยกับหลากปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจ
ต้องไม่ลืมว่านอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องหลายประการที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 และต้องนำมาพิจารณา เช่น การให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งเหตุผลนี้จะนำมาสู่การเปิดประเทศได้เร็วขึ้น ควบคู่ไปกับการควบคุมผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาของฝุ่น (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐานที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ในขณะที่ในการเรียกความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจนั้น การกระตุ้นการบริโภคจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงิน เพื่อเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว และควรเร่งให้มีการติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง มีการส่งเสริมการลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐานทางสาธารณูปโภคที่ส่งผลทางเศรษฐกิจ การลงทุนทางด้านการวิจัย การวางระบบสาธารณสุข การชดเชยรายได้ มาตรการด้านภาษี นโยบายสินเชื่อ การให้ความช่วยเหลือการฟื้นฟูต่อผู้ได้รับผลกระทบในหลายมิติ ย่อมเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถเข้าสู่สภาวะปกติได้ในเร็ววัน


กำลังโหลดความคิดเห็น