xs
xsm
sm
md
lg

บล.ไทยพาณิชย์ให้เป้า SET ปี 65 ที่ 1,600 แนะเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มหุ้นเชิงรับหลังกลุ่มวัฏจักรหมดเสน่ห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.ไทยพาณิชย์ มองวัฏจักรตลาดหุ้นไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความหวัง (Hope phase) เข้าสู่ช่วงเวลาที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการเติบโต (Growth phrase) ซึ่งเชื่อมโยงกับการเติบโตของกำไรตามปัจจัยพื้นฐานมากกว่าการปรับเพิ่ม valuation โดยประเมินระดับเหมาะสมของ SET Index สำหรับปี 2565 อิงกับปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1,600 จุด แนะนำกลยุทธ์การลงทุนให้เปลี่ยนกลุ่มลงทุน จากกลุ่มหุ้นวัฏจักรเป็นกลุ่มหุ้นเชิงรับที่มีปัจจัยพื้นฐานเฉพาะตัวเป็นแรงขับเคลื่อนกำไร มี valuation ที่สมเหตุสมผล และพึ่งพาแรงส่งทางเศรษฐกิจมหภาคน้อยมาก โดยจุดเข้าซื้อสำคัญอยู่ที่ 1,500-1,550 จุด หุ้นแนะนำ ได้แก่ CRC, GPSC, PM, RJH และ SFT

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า แนวโน้มไตรมาส 3/64 การที่ SET Index ฟื้นตัวมาถึงระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แล้ว แม้ว่าวิกฤตยังไม่จบ บ่งชี้ว่าราคาหุ้นได้สะท้อนความหวังของนักลงทุนไปมากแล้ว ทำให้ประเมินว่าวัฏจักรตลาดหุ้นไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านจาก Hope phase (ช่วงเวลาที่ตลาดถูกขับเคลื่อนด้วย valuation) สู่ Growth phase (ช่วงเวลาที่ตลาดถูกขับเคลื่อนด้วยการเติบโตตามปัจจัยพื้นฐาน)

ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยประเมินว่าหุ้นเชิงรับจะปรับตัว outperform ตลาด เพราะมีความชัดเจนของกำไรที่สูงกว่าและมีความผันผวนที่ต่ำกว่ากลุ่มหุ้นวัฏจักร เป้าหมาย SET index ปี 65 ที่อิงกับปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1,600 จุด สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่ากำไรสุทธิในปีน้าจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ระบาด

ทั้งนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคกำลังจะเปลี่ยนไป หลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเร็วกว่าคาดในช่วงที่ผ่านมา นำโดยสหรัฐฯ และจีน โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนในไตรมาส 3/64 จะเริ่มชะลอตัวลง รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและการคลังจะเริ่มตึงตัวขึ้น เช่น การชะลอการอัดฉีดสภาพคล่อง และการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ตรงข้ามกับในช่วงปี 63 ด้านกลุ่มประเทศในยุโรปถือว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวได้ดี โดยข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัวกำลังฟื้นตัวไปที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 64

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนายังคงฟื้นตัวช้า เนื่องจากอัตราการได้รับวัคซีนยังคงต่ำทำให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ รวมถึงกำลังเผชิญกับความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องจับตาในช่วงไตรมาสที่ 3/64 นอกเหนือจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 แล้ว คือ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีการปรับตัวขึ้นแรงในไตรมาส 2/64 โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวและจะเริ่มชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปี 64 ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อไม่มีสัญญาณชะลอตัวตามคาด จะกลับกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะกดดันบรรยากาศการลงทุน เนื่องจากจะทำให้ตลาดมีความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยการระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมากในช่วงไตรมาส 2/64 ถือว่าต่อเนื่องจากการระบาดระลอกที่ 2 ในช่วงปลายปี 63 ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยด้านการบริโภคถือว่าช่วยลดผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มได้บ้าง แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ การฉีดวัคซีนให้ได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจภายในประเทศและการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ในไตรมาส 4 ล่าสุดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 64 ไว้ที่ระดับ 2%

"กลยุทธ์หลักของเราในการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดใน H2/64 คือ การเปลี่ยนกลุ่มเล่นและเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและ valuation สมเหตุสมผล เราเชื่อว่าหุ้นวัฏจักรน่าจะสะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งไปเรียบร้อยแล้ว และแนะนำให้มองหาโอกาสเข้าซื้อหุ้นเชิงรับที่มีการประเมินมูลค่าที่น่าสนใจโดยจุดเข้าซื้อที่สำคัญอยู่ที่ 1,500-1,550 จุด" นายสุกิจ กล่าว

ทั้งนี้ หุ้นเด่นไตรมาสที่ 3/64 แนะนำหุ้นขนาดเล็กและหุ้นเชิงรับที่มีปัจจัยพื้นฐานเฉพาะตัวเป็นแรงขับเคลื่อนกำไร มี valuation ที่สมเหตุสมผล และพึ่งพาแรงส่งทางเศรษฐกิจมหภาคน้อยมากในการผลักดันให้มีผลตอบแทนสูงกว่าตลาด หุ้นแนะนำคือ CRC, GPSC, PM, RJH และ SFT

- CRC : คาด SSS ตั้งแต่ต้นปีถึง Q2/64 เติบโต 30%YoY จากฐานต่ำของปีก่อน และเติบโตเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ค. 64 จากฐานปกติหลังสาขาต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการซึ่งยืนยันการผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ขณะที่ใน H2/64 จะได้อานิสงส์จากโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้โดยเฉพาะธุรกิจแฟชั่นและธุรกิจฮาร์ดไลน์ในประเทศไทย

- GPSC : กำไร Q2/64 จะปรับตัวขึ้น QoQ จากการหยุดซ่อมบำรุงลดลง ต้นทุนก๊าซลดลง และการดำเนินงานเต็มไตรมาสของโรงไฟฟ้า GE เฟส 5 ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้กระทบต่ออุปสงค์จากภาคอุตสาหกรรมน้อยกว่าปีก่อน

- PM : คาดกำไร Q2/64 ลดลง QoQ ตามฤดูกาล แต่เติบโต YoY จากการที่บริษัทและคู่ค้ามีแผนออกสินค้าใหม่สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการขยายตัวแทนและศูนย์การกระจายสินค้าพร้อมทั้งเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์

- RJH : คาดกำไร Q2/64 ลดลง โตเด่น YoY จากรับรู้รายได้บริการตรวจโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น และมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง (Net Cash 66 ล้านบาท) อีกทั้งราคาหุ้นยัง Laggard โดยปัจจุบันซื้อขายด้วยอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (PER) ล่วงหน้าปี 64 และ 65 ที่ 22.7 เท่า และ 21 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 52.0 เท่า และ 35.4 เท่า ตามลำดับ

- SFT : คาดกำไร Q2/64-Q4/64 นิวไฮต่อเนื่อง หนุนจากอุปสงค์เติบโตในลูกค้าทุกกลุ่ม และกำลังการผลิตใหม่ที่เริ่มผลิตตั้งแต่เดือนมิถุนายน


กำลังโหลดความคิดเห็น