พิษโควิด-19 กดดันหนัก ตลาดหุ้นไทยอ่วม พ้นไตรมาสแรกคล้ายผ่านพ้นจุดพีค ภาพรวมไตรมาส 3 ส่อพักฐานยาว ขณะยอดผู้ติดเชื้อพุ่งไม่หยุด อาจจำเป็นต้องล็อกดาวน์ แนะนำลงทุนในหุ้น Growth มากกว่า Value โดยเฉพาะกลุ่มส่งออก
แม้จะยังเป็นช่วงขาลงของตลาดหุ้นไทย จากดัชนีหลักทรัพย์ที่ระดับ 1,578.49 จุด เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่โดยรวมตั้งแต่ต้นปียังถือว่าตลาดหุ้นไทย เมื่อผ่านพ้นครึ่งปีแรกไปแล้วยังปรับตัวสูงกว่า 134 จุด จากเมื่อต้นปีที่ระดับ 1,433.99 จุด (4ม.ค.) โดยดัชนีเคยทะยานปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 1,636.76 จุด เมื่อวันที่14มิ.ย. จนในช่วงเวลาดังกล่าวหลายต่อหลายคนต่างหวังที่จะได้เห็นดัชนีทะยานเหนือ 1,700 จุดในช่วงสิ้นปี
อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ระลอกล่าสุด ยังไม่มีทีท่าจะยุติลง แต่ตรงกันข้ามกับนับวันยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อต่อวันที่แตะหลักวันละ6,000 ราย ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสถานที่รักษา เมื่อโรงพยาบาลต่างเต็มและล้นไปด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มเข้ามาต่อเนื่องทุกวัน
ขณะที่ภาพรวมการซื้อขายสุทธิแยกตามประเภทนักลงทุน พบว่า ตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนต่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ผนึกกำลังขายหุ้นสะสมออกกว่า 1.21 แสนล้านบาท แบ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติ 8.02 หมื่นล้านบาท และกลุ่มสถาบัน 4.09 หมื่นล้านบาท โดยมีนักลงทุนทั่วไปเป็นผู้ซื้อสะสม 1.13 แสนล้านบาท ส่วนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสะสม 7.40 พันล้านบาท
โดยภาพรวมในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ดัชนีหลักทรัพย์ได้รับแรงหนุนจากการเริ่มปูพรมฉีดวัคซีนเพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่เริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนหลังเริ่มมีการเลื่อนฉีดวัคซีนรวมถึงสถานการณ์การระบาดที่ยังคงรุนแรงจนทำให้ต้องออกมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างและงดนั่งทานอาหารที่ร้านอีก 30 วันสร้างความกังวลต่อโอกาสในการเปิดประเทศภายใน 120 วันตามที่ประกาศไปก่อนหน้า ส่วนปัจจัยต่างประเทศมีแรงกดดันจากการคาดการณ์ถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วขึ้นของธนาคารสหรัฐ (เฟด)จากการประชุม FOMC ในกลางเดือนที่ผ่านมา
มีรายงานว่า Fund Flow เดือน มิถุนายน ได้รับแรงกดดันหลักจากนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศที่ยังคงขายสุทธิอย่างหนัก อย่างไรก็ตามได้รับแรงหนุนบางส่วนจากนักลงทุนในประเทศและ Prop Trade และยังมีหลายสถานการณ์ที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ การฉีดวัคซีนจะสามารถทำได้ใกล้เคียงเป้าหรือไม่ หากตัวเลขสามารถทำได้ใกล้เคียง 10 ล้านโดสต่อเดือน จะเพิ่มโอกาสในการเปิดประเทศในช่วงเดือน ต.ค.64 มากขึ้น นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน ถ้าสามารถลดลงต่ำกว่าระดับ 3 พันรายได้ จะยิ่งเป็นSentiment บวกต่อเศรษฐกิจและหุ้นในกลุ่มเปิดเมือง (Reopen Economy) อีกครั้ง
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด รายงานว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค. ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ที่กระจายเป็นวงกว้างและมีการใช้มาตรการควบคุมที่เข้มข้น สะท้อนผ่าน การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็พบว่า ภาคการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจ
โดยการบริโภคภาคเอกชน -3.10% จากเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการปรับตัวลงในทุกการใช้จ่าย โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน -6.50% ตามยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เชิงพาณิชย์ และยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ สอดคล้องกับรายได้และความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลง ส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน -1.90% จากยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง แม้จะมีโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐแต่สามารถพยุงกำลังซื้อได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ด้านการลงทุนภาคเอกชน ก็ติดลบ 2.30% สอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับตัวลง และ การลงทุนหมวดก่อสร้างปรับตัวลงทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยยังมีอยู่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยยังมีไม่มาก
ทั้งนี้ มี 2 กิจกรรมที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในเดือน พ.ค. คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัว 1.90% ช่วงเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกเร่งตัวขึ้น 44.40% ด้วยแรงหนุนจากสินค้าเกษตรตามการส่งออกผลไม้ไปจีน สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน ขยายตัวสอดคล้องกับความต้องการของอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัว รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังได้รับผลดีต่อเนื่องจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้ ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ ลงเป็น +1.94% จากปีก่อน โดยมีสมมติฐานว่าการแพร่ระบาดในประเทศสามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส3/64 และ ภาครัฐไม่มีการใช้มาตรการ Full Lockdown, ไม่มีการกลายพันธุ์ของไวรัส หรือ หากมีจะต้องไม่ลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีนลงจนทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรง แต่สถานการณ์ในปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เร่งตัวขึ้นและจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมให้เข้มงวดมากขึ้น ประเด็นที่ต้องติดตามต่อ คือ มาตรการควบคุมจะช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่, การจัดหาและกระจายวัคซีน รวมถึงประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์ต่าง ๆ
ล่าสุด ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยว่า ได้ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทย ในช่วงเดือน ก.ค.- ส.ค. 64 ว่า ในช่วง 2 เดือนนี้ จะมี 3 ประเด็นสำคัญที่น่าจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทย ประกอบด้วยประการแรกคือการระบาดของ โควิด-19 จากการแพร่สายพันธุ์ Delta (อินเดีย) หลังจาก ยอดติดเชื้อล่าสุด ( 1 ก.ค.) พบผู้ติดเชื้อ 6,087 ราย ยังทำนิวไฮ โดย ASPS ประเมินว่าหากการะบาดของสายพันธุ์ Delta ในไทยคล้ายกับอินเดีย คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อของไทยจะทำจุดสูงสุด (Peak) ในช่วงประมาณราวสัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือน ก.ค. 64 ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงจนใกล้เคียงระดับเดิมในวันที่ 7 ก.ย. 64 อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นหรือ เพิ่มขึ้น คาดจะเป็นแรงกดดันตลาดหุ้นไทย
ประการ การส่งสัญญาณลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟด หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 66 ราว 2 ครั้ง ส่วนการส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering) หากอิงจากรูปแบบ (Pattern) การส่งสัญญาณ QE Tapering ในรอบก่อน (ปี 56-58) พบว่า นับตั้งแต่เฟดเริ่มส่งสัญญาณ QE Tapering ครั้งแรก จนถึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะใช้ระยะเวลาประมาณ 20 เดือน และถ้ากำหนดให้เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจริงในช่วงปลายปี 66 (ตามที่ส่งสัญญาณ) เมื่อนำมาคำนวณย้อนกลับ พบว่าเฟดควรจะส่งสัญญาณ QE Tapering ในรอบนี้ประมาณช่วงเดือน ก.ค.–ส.ค. 64
สอดคล้องกับกำหนดการต่างๆในช่วงเดือน ก.ค.–ส.ค. 64 ที่ ตลาดคาดว่าเฟดจะสัญญาณ QE Tapering เพิ่มเติม เช่น การประชุม Fed ในวันที่ 27-28 ก.ค. 64, การประชุม Jackson Hole Symposium ในวันที่ 26-28 ส.ค. 64 เป็นต้น และ
สุดท้ายคือ \กำไรบริษัทจดทะเบียนงวด Q2/64 อาจชะลอตัว ประเมินผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน Q2/64 มีโอกาสชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จาก 2 เหตุผลหลัก คือ ฐานกำไรไตรมาส 1 ที่อยู่ระดับ 2.6 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 135% เทียบปีก่อนและ 45%จากไตรมาสก่อน) และสูงกว่าที่ Consensus คาดถึง 38% ซึ่งไม่โดนกดดันจากประเด็นCOVID-19 ขณะที่ไตรมาส 2 นั้นถูกกดดันเต็มไตรมาส จากมาตรการแบ่งโซนสีไปนานกว่า 2.5 เดือน (ช่วงกลางเดือน เม.ย. - มิ.ย. 64)
โดยกำไรกลุ่มหลักๆ อย่างพลังงานที่อิงกับราคาน้ำมันดิบ คาดได้รับ Stock Gain ไม่มากเท่าไตรมาส 1 ที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งแรง และกลุ่มธพ. ที่มีกำไร Q1/64 รวม 4.6 หมื่นล้านบาท (เติบโต 2%เทียบปีก่อนและ 45%เทียบไตรมาสก่อน ) ดีกว่าคาดมาก ซึ่งใน Q2/64 น่าจะตั้งสำรองสูงขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน จึงทำให้ไม่น่าจะดูดีเท่างวด Q1/64
ทำให้ กลยุทธ์ลงทุน ก.ค. ถือเงินสด 20% เลือก BJC, GPSC และ MCS สำหรับในเชิงของ Sentiment การลงทุน ช่วง ก.ค. ต่อเนื่อง ส.ค. มีหลายด่านที่อาจสร้างแรงกดดัน และอาจทำให้ SET Index พักฐาน เริ่มจากสถานการณ์ Covid-19 ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของ ก.ค.64 น่าจะเป็นช่วงที่น่าเป็นห่วงที่สุดโดยน่าจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น New High ต่อเนื่องซึ่งจะเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขอย่างหนักและอาจเปิด Downsideให้กับประมาณการ GDP รวมถึง กำไรบริษัทจดทะเบียน และด่านที่ 2 เป็นเรื่องแนวนโยบายการเงินของ Fed ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นการส่งสัญญาณลดระดับการผ่อนคลายที่แรงขึ้นช่วง เดือน ก.ค. หรือ ส.ค. และด่านที่ 3 เป็นเรื่องของกำไรงวด 2Q64
โดยฝ่ายวิจัย ประเมินว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักน่าจะมีฐานกำไรที่ลดลงจาก 1Q/64 การกำหนดกลยุทธ์ลงทุนช่วงเดือน ก.ค. ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น โดย SET Index น่าจะผันผวน แนะนำถือครองเงินสด 20% วันนี้ไม่มีการปรับพอร์ต จำลอง หุ้น Top Pick เลือก BJC, GPSC และ MCS
“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส แสดงความเห็นว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/64 ยังเผชิญความเสี่ยงทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ โดยความเสี่ยงสำคัญจากต่างประเทศ คือ การส่งสัญญาณลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (QE) ของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากเฟดส่งสัญญาณปรับลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตร (QE Tapering) ซึ่งตลาดคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลาย ส.ค.64 จะสร้างแรงกดดันอย่างมาก และผลักดันให้เงินทุนไหลออกไปได้ในบางจังหวะ
ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศยังคงเป็นการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะสายพันธุ์ Delta ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้รัฐบาลกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมโรคอีกครั้ง เป็นระยะเวลา 1 เดือน (ปลาย มิ.ย.-ปลาย ก.ค.64) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยทั้งปี 64 เชื่อว่าจะยังเติบโตได้ราว 1.7% ไม่กลับไปชะลอตัวเหมือนปีก่อน เนื่องจากในปีนี้ภาคส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน เห็นได้จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัว 17% และการเร่งกระจายวัคซีนของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 3/64 รวมไปถึงโอกาสในการเปิดประเทศช่วงครึ่งปีหลังน่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
"กำไรของบริษัทจดทะเบียน น่าจะผ่านจุดสูงสุด (Peak) มาแล้วในไตรมาส 1/64 โดยช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี คาดว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรสุทธิรวม 5.45 แสนล้านบาท เติบโต 11.7% ซึ่งน้อยกว่าไตรมาสแรกที่เติบโต 135% นอกจากนี้ มาตรการควบคุมCOVID-19 ที่ปัจจุบันดำเนินมาเป็นเวลาถึง 3 เดือนครึ่งจาก 9 เดือนที่เหลือของปี ทั้งมาตรการแบ่งโซนสี และมาตรการคุมเข้ม 10 จังหวัด น่าจะกดดัน EPS ของตลาด "
ด้าน “ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ จำกัด แสดงความเห็นว่า ทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงต้นไตรมาส 3 ดัชนีจะแกว่งตัวในลักษณะ Sideways โดยประเมินกรอบดัชนีที่ระดับ 1,550-1,650 จุด ขณะที่ปัจจัยที่จะเข้ามากระทบการลงทุน ในช่วงเดือน ก.ค.ยังคงให้น้ำหนักกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเริ่มมีสัญญาณชี้ให้เห็นถึงการแพร่ระบาด ของสายพันธุ์ต่างๆ ทั่วโลก จนอาจนำไปสู่ความกังวลต่อประสิทธิผลของวัคซีนได้ ส่วนการดำเนินนโยบาย ของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก คาดว่าจะยังไม่มีข่าวร้ายใดๆ ออกมาในเดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ปัจจัยสภาพคล่อง ในตลาดมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีต่อไป
ดังนั้นในเชิงกลยุทธ์ แนะนำให้นักลงทุนใช้ระดับดัชนี 1,600 จุดเป็นแกนกลางแบ่งครึ่งในการลงทุน หากดัชนีปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,600 จุดขึ้นไปให้เน้นทางขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเข้าใกล้แนวต้านที่ 1,650 จุด ในทางกลับกัน หากดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 1,600 จุดลงมาให้เน้นทางซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเข้าใกล้แนวรับที่ 1,550 จุด
พร้อมแนะนำลงทุนในหุ้น Growth มากกว่า Value ในเดือนนี้ เพราะมีโอกาสสูงที่จะปรับตัว Outperform เพราะเป็นหุ้นกลุ่มที่ทนทานและได้ประโยชน์ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรง อีกทั้งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก Bond yield ระยะยาวที่ยังคง ทรงตัวต่ำ จากความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อผ่อนคลายลง และประเด็น QE Tapering ที่ยังไม่น่าจะถูกส่งสัญญาณออกมาในเดือนนี้ และเป็นกลุ่มที่มัก Outperform ในช่วงที่ความชัน Yield curve อยู่ในระดับต่ำ
ขณะเดียวกันหุ้นในกลุ่ม Growth จะมีอัตราการเติบโตของกำไรแข็งแกร่งเป็นพิเศษ โดยให้เลือกหุ้น ที่ทนทานต่อเหตุการณ์โควิด-19 ในประเทศ ซึ่งมีกลุ่มที่น่าสนใจดังนี้คือ กลุ่มส่งออก ที่ส่วนใหญ่จะมีผลประกอบการไตรมาส 2 อยู่ในเกณฑ์ดี ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท และได้ประโยชน์จากพฤติกรรม WFH ในต่างประเทศ โดยมีหุ้นให้เลือก คือ KCE, TFG, ASIAN, SUN, XO กลุ่มโลจิสติกส์ แนะนำ LEO เพราะราคาปัจจุบันยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางทรีนีตี้ให้ไว้ เลือก WICE ในฐานะเป็นผู้เล่นที่มีสัดส่วนธุรกิจขนส่งทางอากาศและทางทะเลในที่ใกล้เคียงกัน และSONIC ในฐานะที่มี Valuation น่าสนใจที่สุด กลุ่ม Packaging เนื่องจากดีมานด์ที่มีต่อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นไม่ได้รับผลกระทบจากCOVID-19 มากนัก อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากพฤติกรรม New normal การสั่งสินค้าออนไลน์ และDelivery ต่างๆ รวมไปถึงได้ประโยชน์จากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง เลือก SCGP, SFT, SFLEX, UTP
“อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ จำกัด แสดงความเห็นว่า กลยุทธ์การเลือกหุ้นลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง โฉมหน้าหุ้นที่น่าสนใจจะเปลี่ยนไปเป็นหุ้นเชิงรับ (Defensive Stocks) และหุ้นเชิงคุณค่า (Value Stocks) มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และราคาหุ้นกลุ่มดังกล่าวยังน่าสนใจ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมายังปรับตัวขึ้นน้อยอยู่ (Laggards) ผสานกับส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาวและระยะสั้น (Yield Curve) ที่แปรเปลี่ยนเป็นสภาวะ “Bearish Flattening” ยิ่งตอกย้ำมุมมองการลงทุนข้างต้น เพราะในสภาวะ Bearish Flattening Yield Curve ตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนลดลง และอาจมีการปรับฐานเกิดขึ้น
ทำให้นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ “Selective Buy” ที่คัดเลือกหุ้นในเชิงคุณภาพมากขึ้น เช่น หุ้นที่มีแนวโน้มธุรกิจดี มีการเติบโต ฐานะการเงินแข็งแกร่ง และระดับการประเมินมูลค่ายังน่าสนใจ โดยมองว่า หุ้นไทยจบรอบแกว่งซิกแซกขึ้นแล้ว เข้าสู่ช่วงการพักฐานแกว่งตัวออกข้างถึงแกว่งตัวลง (ไซด์เวย์ถึงไซด์เวย์ดาวน์) ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า
กลยุทธ์การลงทุนต่อจากนี้แนะเลือกหุ้นเป็นรายตัว เน้นที่คุณค่าและคุณภาพ (Value & Quality) โดยมองธีมการลงทุนหลักช่วงนี้จะเกี่ยวกับการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ที่คาดว่าจะออกมาดี และมีปัจจัยบวกเฉพาะตัวหนุน ขณะที่หุ้นเด่นที่แนะนำ คือ BCH, BDMS, BEC, JWD, KCE, NYT TVO