นายกฯ เตรียมหารือ สุพัฒนพงษ์-อาคม-สภาพัฒน์-สำนักงบฯ พิจารณาออกมาตรการ “เงินเยียวยา” ประชาชนและผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์ 10 จังหวัด ขณะที่ร่วมเป็นประธานและกล่าวขอบคุณรับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากรัฐบาลญี่ปุ่น และประชุมงานต่างๆ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ตลอดทั้งวัน
สำหรับการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในช่วงนี้ ยังคงต้องกักตัวที่บ้านพัก ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ 7 แล้ว และจะทำการกักตัวไปจนถึงวันที่ 19 ก ค. แต่ทุกวันจะมีการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ติดตามงานอย่างต่อเนื่อง
โดยวันนี้ (12 ก.ค.) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวขอบคุณในพิธีรับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ เป็นผู้รับมอบวัคซีนจากเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกปี 2565 และเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว ครั้งที่ 2/2564
ซึ่งในวันนี้นายกรัฐมนตรี ได้นัดประชุมวงเล็ก ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับทีมเศรษฐกิจ เช่น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เพื่อออกมาตรการเยียวยาประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์และประกาศเคอร์ฟิว ตามประกาศฉบับที่ 27
ส่วนมาตรการเยียวยาประชาชนที่จะออกมาเบื้องต้น อาจมีการแจกเงินเยียวยาให้ผู้ที่ขาดรายได้ รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเคอร์ฟิว และล็อกดาวน์ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่อยู่ใน 10 จังหวัด หรือจะช่วยเหลือเป็นวงกว้างทั่วประเทศหรือไม่
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ จัดทำข้อเสนอทั้งหมดมาให้พิจารณาในวันนี้ จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในวันที่ 13 ก.ค.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาที่จะออกมาในครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้เงินจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องติดตามรายละเอียดมาตรการที่จะออกมาอีกครั้ง