ธปท. เกาะติดมาตรการล็อกดาวน์-สายพันธุ์เดลตาระบาดหลัง 14 วัน กระทบการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ช้าลง ฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงัก จับตาการฉีดวัคซีน-ซัปพลายวัคซีน รับมีความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจไทย ยันพร้อมใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติม
วันนี้ (12 ก.ค.) นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2564 ว่า มุมมองเศรษฐกิจต่อสถานการณ์การควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อมาตรการกึ่งล็อกดาวน์นั้น มองว่า การประกาศมาตรการควบคุมเพิ่งจะมีผลบังคับใช้วันนี้และไปอีก 14 วัน โดย ธปท.จะติดตามและประเมินผลต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่จะเกิดขึ้น โดย ธปท.จะต้องพิจารณาว่าภายหลังจากมาตรการล็อกดาวน์ภาครัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ หรือหลังล็อกดาวน์สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายได้
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการพูดคุยถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่จะมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการควบคุมการระบาดทำได้ช้าลง รวมถึงการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) จะทำได้ช้าลง ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจไทยได้
“ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบและมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วนับตั้งแต่เดือนเมษายน-ปัจจุบัน และเราคาดว่าจะอยู่ในเหตุการณ์นี้อีกสักระยะ แต่ ธปท.จะติดตามประเมินผลกระทบและระบบการเงิน เพื่อดูว่านโยบายการเงินเพียงพอหรือไม่และสามารถทำอะไรได้เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี นโยบายการเงิน การคลัง และนโยบายด้านสาธารณสุขจะต้องร่วมมือกัน รวมถึงภาคประชาชนจะต้องร่วมมือเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างยั่งยืน”
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองภาพเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนได้นำปัจจัยสายพันธุ์เดลตาเข้ามาเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง แต่มีเรื่องของผลจากปัจจัยมาตรการล็อกดาวน์ที่รุนแรงกว่าคาด ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกว่าคาดการณ์เดิม ตลอดจนการประมาณการการฉีดวัคซีนที่ได้วันละ 3-4 แสนโดสต่อวัน จะต้องติดตามเรื่องของซัปพลายวัคซีนต่อวัน ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านต่ำ นอกจากเรื่องความเปราะบางของครัวเรือนและแรงงาน มาตรการทางการคลังและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งมีความเสี่ยงสูง โดย ธปท.จะติดตามประเมินผลต่อไป
“ในการประมาณการเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.64 สมมติฐานพื้นฐานสายพันธุ์เดลตายังไม่รุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่สูง โอกาสที่จะอยู่ในสมมติฐานที่เราทำยังมีเยอะ แต่ตอนนี้สถานการณ์ค่อนข้างเปลี่ยนเร็ว ธปท.กำลังเร่งประเมินผลอยู่ ซึ่งเราไม่อยากประเมินในช่วงที่ข้อมูลกำลังฝุ่นตลบอยู่มาใช้ประเมินภาพในตอนนี้”