xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับรายงานภาวะ ศก.ไตรมาส 1/64 การเงินมีเสถียรภาพ แต่เปราะบาง เกาะติดหนี้ครัวเรือน-ภาคธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/64 เผยระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ แต่เปราะบาง ขณะเดียวกัน ความสามารถชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (22 มิ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ รับทราบรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและการส่งออกของเอเชียที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 4.7 และฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2564 โดยประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ซึ่งต่ำจากการประเมินครั้งก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 มีแนวโน้มเกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่ขยายตัวสูง โดยจะเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 10.0 และปี 2565 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 และ 2565 ประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และ 1.0 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ดีกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากการส่งเสริมการขายรถยนต์ในช่วงปลายปี และผลจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐที่ออกมาเพิ่มเติมภายหลังการระบาดระลอกใหม่ รวมทั้งการลงทุนในลักษณะโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความชัดเจนมากขึ้น สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีสัดส่วนการจ้างงานร้อยละ 20 ของการจ้างงานทั้งหมด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยว่า ระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพแต่เปราะบางมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอ่อนแอ จึงต้องติดตามฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ไม่เข้มงวดเท่าปีก่อนหน้า ประกอบกับแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะสามารถขยายตัวร้อยละ 4.7 จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นภายหลังการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึงด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น