xs
xsm
sm
md
lg

'ฟิทช์'คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย BBB+ คงมุมมองมีเสถียรภาพ คาด ศก.ไทยเริ่มฟื้นตัว Q2/64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในระดับ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของไทย มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ประกอบด้วย ภาคการคลังสาธารณะมีความแข็งแกร่ง จากการรักษาวินัยทางการคลัง แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากปัญหาโควิด-19 และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายขาดดุลปี 2564 การออก พ.ร.ก.เงินกู้ ฉบับที่ 2 วงเงิน 500,000 ล้านบาท แต่ฟิทช์ฯ เชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้หนี้สาธารณะของไทย ณ เดือนเมษายน 2564 มีอายุเฉลี่ย 9.5 ปี สัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินบาทมากกว่าร้อยละ 98 อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส ฮังการี บัลกาเรีย รัสเซีย และคาซัคสถาน เป็นต้น โดยมีค่ากลางของหนี้สกุลท้องถิ่น ร้อยละ 68.8

ทั้งนี้ ฟิทช์ฯ คาดว่าสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อจีดีพี ของไทยในปี 2565 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 52.7 ต่อจีดีพี เมื่อต้องกู้เงินฟื้นฟู โควิด-19 จำนวน 2 ฉบับ สัดส่วนหนี้ต่อภาครัฐอยู่ที่ร้อยละ 59.4 ฟิทช์ฯ ยังเชื่อมั่นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปี 2564 จะเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้า และการเร่งรัดการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ คาดว่าจีดีพีไทยในปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2564 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงเกินดุลร้อยละ 0.5 ต่อจีดีพี และจะเกินดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 70 ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2564 และแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงฉีดวัคซีนครบโดสแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง โดยเริ่มจาก จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่อง โดยฟิทช์ฯ ยังติดตามเรื่องธรรมาภิบาล รายได้เฉลี่ยต่อหัว หนี้ครัวเรือน ความเสี่ยงทางการเมือง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย