แม่ฮ่องสอน - เมืองสามหมอกเร่งส่งเสริมเครือข่ายองค์กรความรู้ KBO ยกระดับมาตรฐานสินค้าของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง พัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ทำตลาดสร้างรายได้สู้ผลกระทบโควิด
ขณะนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เร่งขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนคนพื้นถิ่นแม่ฮ่องสอนเข้าสู่ตลาดสร้างรายได้กลับคืนมา หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาดหลายระลอก ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ควบคู่ไปกับการตลาด
โดยการจัดตั้งเครือข่ายองค์ความรู้ KBO (Knowledge Based OTOP) ดึงสถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เครือข่ายผู้ผลิตชุมชน และชาวบ้านภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผนึกกำลังนำองค์ความรู้พัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน
และเพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP โดยที่รัฐสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้สมัยใหม่ แหล่งเงินทุน และพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการ-การตลาดเพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุดจังหวัดฯ มอบหมายให้ นายญาณทัธ สิริวัฒน์ วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ นายชีวิน ศรัทธา ประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ตระเวนลงพื้นที่ติดตามการสนับสนุนการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ KBO กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าต่างๆ ได้แก่
1. กลุ่มตัดเย็บผ้าบ้านผาเผือก ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีการพัฒนารูปแบบกระเป๋าผ้ามูเซอ จากรูปแบบเดิม เป็นรูปแบบที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ของลายผ้า 2. กลุ่มทุ่งแห่งการเกษตรบ้านไร่ปลายน้ำลาง ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน มีการพัฒนารูปแบบแพกเกจผลิตภัณฑ์ข้าว ที่เพิ่มคุณประโยชน์ทางอาหารให้กลุ่มเป้าหมายคนรักสุขภาพและเพิ่มมูลค่าของสินค้า
3. กลุ่มสตรีตัดเย็บผ้าชนเผ่าลีซอบ้านหนองตอง ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีการพัฒนารูปแบบกระเป๋าลีซอให้เป็นลักษณะกระเป๋าสะพายข้าง สายยาว ซึ่งเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น หรือวัยทำงาน แต่ยังคงเน้นลายผ้าและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์เดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซอ
และ 4. กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสบสอย ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งบ้านสวนซอยเป็นแหล่งเกษตรกรรม และมีผลผลิตจากป่าเขา โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันงา น้ำผึ้งป่า และมีสถานที่สวยงาม จึงมีการส่งเสริมให้นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ลิปผึ้งป่าสูตรน้ำมันงา เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงริมฝีปาก ซึ่งการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ทำให้ขายง่ายราคาไม่แพง และเป็นการสร้างคุณค่าผ่านเรื่องราวจากการใช้วัตถุดิบธรรมชาติ
พร้อมกันนี้ยังมีการลงพื้นที่ติดตามการส่งเสริมเครือข่ายองค์ความรู้ KBO เช่น กลุ่มแปรรูปผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านหัวแม่สุริน ตะไคร้ภูเขาอบแห้ง วิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์เกษตรทางเลือกบ้านแม่สุริน รัตนากรของฝากจากปาย กลุ่มอาชีพตีเครื่องเงินบ้านละอูบ ฯลฯ
นับเป็นโอกาสของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่จะได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาด และหวังให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนคนพื้นถิ่นแม่ฮ่องสอนเข้าสู่ตลาดสร้างรายได้ให้กลับคืนมาหลังวิกฤตโควิด-19