xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” สั่งปิดโรงงานหมิงตี้ฯ ถาวร หากจะกลับมาดำเนินงานใหม่ต้องย้ายเข้านิคมฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” ปิดทาง “หมิงตี้เคมีคอล” ฟื้นตั้งโรงงานใหม่ที่กิ่งแก้ว ย้ำเพื่อความปลอดภัยชุมชนหากต้องการกลับมาดำเนินการใหม่ต้องย้ายเข้านิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น สั่ง กรอ.รุดสอบคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศต่อเนื่อง ยันเบื้องต้นไร้ปัญหา พร้อมเร่งขนสารที่ตกค้างออกพื้นที่ภายใน 3 วัน สั่งโรงงานตั้งจุดร้องทุกข์เยียวยาประชาชน 3 แห่ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามเหตุการณ์ไฟไหม้ 2 โรงงาน ได้แก่ โรงงานบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และเหตุการณ์ไฟไหม้ ณ บริษัท ฟลอรอลแมนูแฟคเจอริ่งกรุ๊ป ย่านลาดกระบัง เพื่อหาแนวทางป้องกันและมาตรการเยียวยา ซึ่งในส่วนของโรงงานหมิงตี้ฯ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้สั่งระงับการดำเนินการไปแล้ว และกระทรวงฯ ไม่มีนโยบายที่จะให้กลับมาดำเนินการในพื้นที่เดิมอีกเพราะอยู่ใกล้กับชุมชน โดยหากจะกลับมาดำเนินการจะต้องเข้าไปสู่นิคมอุตสาหกรรมเท่านั้นและผ่านขั้นตอนตามกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดไว้

“เราชัดเจนว่าไม่มีนโยบายให้โรงงานหมิงตี้ฯ กลับมาก่อสร้างในพื้นที่เดิมเพื่อกลับมาผลิตอีกครั้ง หากจะทำต้องเปลี่ยนไปอยู่ในพื้นที่นิคมฯ เท่านั้น ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ นั้นก็ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่แล้ว” นายสุริยะกล่าว

สำหรับความคืบหน้าส่วนของโรงงานหมิงตี้ฯ พบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชนโดยรอบ ด้านมลพิษในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่บริเวณโดยรอบในระยะ 0-8 KM จำนวน 14 จุด มีค่าสารสไตรีนที่เกิดเผาไหม้ในอุบัติเหตุอยู่ในช่วง 0.42-0.83 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งไม่เกินมาตรฐานบรรยากาศตามที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กำหนด (20 ppm) ขณะที่คุณภาพน้ำ พบสารสไตรีนในน้ำจากการดับเพลิงที่อยู่ในบริเวณโรงงาน แต่ไม่พบสารสไตรีนปนเปื้อนในคลองปากน้ำและคลองประเวศบุรีรมย์หน้าวัดสังฆราช ซึ่งสารมลพิษไม่อยู่ในระดับก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ควรงดใช้น้ำคลองเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงเวลานี้เป็นการชั่วคราว

นอกจากนี้ ในส่วนของแนวทางเยียวยาประชาชน ได้มอบหมายให้โรงงานหมิงตี้ฯ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงงาน ม.39 วรรค 1 โดยจะมีการตั้งจุดรับข้อร้องทุกข์เพื่อรับเงินเยียวยา 3 แห่ง ได้แก่ 1. หน้าโรงงานหมิงตี้ฯ   2.  สถานีตำรวจบางแก้ว และ 3. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนการกำจัดสารสไตรีนโมโนเมอร์ที่ยังเหลืออยู่ 600 ตันทาง ปตท. และดาว เคมีคอล จะเข้ามาช่วยในการเติมสารดีฮาร์เพื่อลดปฏิกิริยาทางเคมีให้มีความเสถียรและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป โดยคาดว่าจะย้ายออกไปได้ใน 3 วัน

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงงานหมิงตี้ฯ ได้ก่อตั้งก่อนที่จะมีกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้ไม่อยู่ในเกณฑ์ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และโรงงานนี้ได้มีการขอขยายโรงงานเมื่อ พ.ค. 60 ในพื้นที่เดิมแต่ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น มีกำลังผลิตสูงสุดเป็น 4 หมื่นตัน และกรณีที่ระบุว่า พ.ร.บ.โรงงานที่ปรับปรุงใหม่จะยกเว้นการต่ออายุใบอนุญาตที่ทำให้การดูแลโรงงานอ่อนลงนั้น ยืนยันว่าไม่จริง แต่ตรงกันข้ามที่เข้มงวดขึ้นเพราะต้องประเมินตนเองด้วยและยังประเมินผลกระทบความเสี่ยงตามเงื่อนไข และโรงงานประเภทเดียวกันกับหมิงตี้ฯ ทั่วประเทศก็มีอีกเพียง 1 แห่งที่ระยองของไออาร์พีซีเท่านั้น

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กรณีไฟไหม้โกดังเก็บสินค้าของ บริษัท ฟลอรอลแมนูแฟคเจอริ่งกรุ๊ป ภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โซน 3 ถนนฉลองกรุง เขตลาดกระบัง ได้ระงับประกอบกิจการชั่วคราวไว้แล้ว เบื้องต้นคาดว่าเสียหาย 31 ล้านบาท กนอ.มีแผนรวบรวมข้อมูลรายงานหลังจากนี้ ทั้งมูลค่าความเสียหายที่ชัดเจน ปริมาณสารเคมี ประเภท และระยะเวลาในการทำหนังสือขอต่ออนุญาตการใช้สารเคมีในโรงงาน เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานของโรงงานว่าเป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับหรือไม่ ขณะเดียวกันจะได้วางมาตรการระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและบริหารจัดการความเสี่ยงในการประกอบกิจการในนิคมฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น