กรณีเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ย่านกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ นักวิชาการจี้ทบทวน “โรงงานเก็บสารเคมีอันตรายอยู่ติดชุมชน” รัฐต้องตรวจสอบมาตรฐานเข้มข้น และประเมินความเสี่ยงตั้งแต่ผังเมือง
รายงานพิเศษ
เหตุเพลิงไหม้โรงงาน บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ที่ซอยกิ่งแก้ว 21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่อีกครั้ง นับตั้งแต่การเกิดเหตุระเบิดของถังบรรจุสารเคมีอันตราย ตั้งแต่คืนวันที่ 4 ก.ค. 2564
ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จนต้องสั่งอพยพประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย เพราะโรงงานใช้สารเคมี “สไตรีน โมโนเมอร์” ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง
จนมาถึงช่วงประมาณ 12.00 น. วันที่ 5 ก.ค. 2564 เกิดเหตุระเบิดซ้ำอีกรอบ เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บอีกหลายนาย โดยคาดว่าเป็นเพราะในโรงงานยังคงมีถังสารเคมีหลงเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณใต้ดิน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสั่งถอนกำลังออกมา
เมื่อดูจากที่ตั้งของโรงงานแห่งนี้ เห็นได้ชัดว่า ตั้งอยู่กลางชุมชน ทั้งที่เป็นโรงงานที่ประกอบกิจการผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องใช้สารเคมีอันตรายจำนวนมาก จึงมีคำถามว่า เหตุใดจึงมีโรงงานที่ประกอบกิจการที่เป็นอันตราย เสี่ยงต่อการเหตุร้ายแรงอยู่ท่ามกลางชุมชน
แต่เมื่อดูประวัติของโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จะพบว่า ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2532 ก่อนจะมีชุมชนขยายมาอยู่รอบๆ โรงงาน ซึ่งอาจทำให้มีคำอธิบายได้ว่า ในช่วงที่ก่อตั้งโรงงาน อยู่ในพื้นที่โล่งตามกฎหมาย ไม่ได้เสี่ยงอันตรายต่อชุมชน แต่ก็มีคำถามต่อไปว่า หากเป็นเช่นนี้ จะสามารถควบคุมให้ชุมชนปลอดภัยได้อย่างไร
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตั้งข้อสังเกตว่า แม้โรงงานจะตั้งมาตั้งแต่ปี 2532 แต่มาตรการการจัดการด้านความปลอดภัยก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับการมีอยู่มาก่อนชุมชนหรือไม่
โดยเบื้องต้น โรงงานที่ประกอบกิจกรรมที่เป็นอันตรายเช่นนี้ จะต้องทำรายงานการจัดการทางสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ส่งต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในขั้นตอนการต่อใบอนุญาต
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโรงงานแห่งนี้ ใช้สารเคมีอันตราย “สไตรีน โมโนเมอร์”ก็ต้องจัดเก็บถังสารเคมีอันตรายนี้อย่างถูกต้อง อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมจังหวัด
เมื่อรู้ว่ามีโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ ก็ต้องมาตรวจอย่างต่อเนื่อง แนะนำวิธีการจัดเก็บ ดูเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย การระงับเหตุ การตัดวงจรที่เหตุจะลุกลามบานปลาย เพื่อให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ต่อทางราชการ เพราะเมื่อเกิดเหตุจะรู้ข้อมูลทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การระงับเหตุอย่างถูกต้อง
ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุและกลายเป็นเหตุรุนแรงเช่นนี้ ก็ต้องตั้งคำถามกับกระบวนการตรวจสอบโรงงานของทางราชการว่า การตรวจสอบที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ในแง่การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน นายสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาคตะวันออก เปรียบเทียบให้เห็นว่า พื้นที่หลายแห่งของจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งในเขตลาดกระบังของ กทม. มีโรงงานมาตั้งไว้นานมากแล้ว
จากนั้นก็มีการขยายของชุมชนตามมาทั้งเพื่อรองรับโรงงานและเพื่ออยู่อาศัย มีทั้งบ้านจัดสรร คอนโดมีเนียม ซึ่งในระหว่างนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองเพื่ออยู่อาศัยตามมาด้วย
และแม้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะตั้งขึ้นมาก่อน แต่เมื่อผังเมืองถูกประกาศให้กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่นก็ต้องเข้ามาตรวจสอบควบคุมความปลอดภัยจากโรงงานไม่ให้ส่งผลกระทบมาสู่ชุมชน ทั้งน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ รวมทั้งความปลอดภัยต่อภัยร้ายแรงจากไฟไหม้หรือการกระจายของสารเคมี เช่นเหตุที่เกิดขึ้นที่โรงงานหมิงตี้
นายสมนึก อ้างอิงถึงเกณฑ์และมาตรฐานผังเมืองรวม ปี 2549 หัวข้อการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งตามประเภทและขนาดของอุตสาหกรรม ที่มีผลกระทบต่อชุมชนแตกต่างกันตามกระบวนการผลิต
โดยในเกณฑ์การเลือกพื้นที่ จะต้องคำนึงถึงการขยายตัวของชุมชนตามผังเมืองรวมไว้ด้วย และต้องเป็นพื้นที่ราบ ไม่มีน้ำท่วมขัง เนื้อดินแข็ง ไม่เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำใต้ดิน หรือใกล้แหล่งน้ำที่อาจทำให้สารพิษปนเปื้อนลงแหล่งน้ำได้ ต้องอยู่ในที่พื้นที่โล่งกว้าง เพื่อรองรับการขยายตัวและป้องกันมลพิษ
นายสมนึก ยังอ้างอิงถึง “ผังประเทศไทย พ.ศ. 2600” ที่จัดทำแล้วเสร็จโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นผังเมืองที่แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์การการวางผังประเทศในอนาคต บนพื้นฐานของศักยภาพและโอกาส เพื่อกำหนดนโยบาย ผังกลยุทธ์ ให้เป็นกรอบแนวทางพัฒนาพื้นที่ ระบบชุมชน การใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่
และหนึ่งใน “ผังประเทศไทย พ.ศ. 2600” มีส่วนที่เผยแพร่ข้อมูลพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 2555 เป็นจุดสีม่วง คือ “โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย” อยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งพื้นที่สีแดงคือ เสี่ยงจากอุตสาหกรรมที่มีมลพิษเข้มข้น และพื้นที่สีส้ม คือ เสี่ยงจากอุตสาหกรรมบรรจุแก๊สและวัตถุระเบิด แต่กลับเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่อย่างหนาแน่น
นายสมนึก จึงตั้งคำถามว่า เมื่อประเทศไทย ได้ทำจัดผังเมือง พ.ศ. 2600 ขึ้นมา โดยใช้ข้อมูลในช่วงปี 2550 เป็นต้นไป มาเป็นฐานเพื่อวางแผนการจัดทำผังเมืองในอนาคต ก็จะเห็นได้ว่า จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ที่ชุมชนขยายไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมาก
ทั้งจากมลพิษ แก๊ส หรือแม้แต่วัตถุระเบิด และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่แค่ที่ถนนกิ่งแก้วเท่านั้น เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่ใช้ข้อมูลนี้ไปปรับปรุงแก้ไขก่อนจะเกิดเหตุ
เช่น การจะให้ชุมชนเมืองขยายเข้ามา ก็ต้องตรวจสอบความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน หากต้องการให้เป็นโรงงาน ก็ต้องปรับเปลี่ยนที่ตั้งของชุมชน ขยายออกไปรอบนอก
หรืออาจใช้มาตรการจูงใจต่างๆ ชักชวนให้โรงงาน แยกส่วนของกิจกรรมที่เป็นอันตราย ออกไปอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรม ที่มีพื้นที่กันชนแยกกับชุมชน และจัดทำระบบความปลอดภัยได้ง่ายกว่า ดูแลง่ายกว่า หรือหากเกิดเหตุก็จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรง
หมายความว่า การจัดทำผังเมืองในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อความปลอดภัย ควรจะต้องชั่งน้ำหนักเลือกระหว่างโรงงานกับชุมชน ไม่ควรปล่อยให้อยู่ใกล้ชิดกันเช่นนี้
ด้าน นางดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า ประเทศไทย จำเป็นต้องเร่งผลักดันร่างกฎหมาย PRTR หรือ ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ ซึ่งหากมีผลบังคับใช้ ก็จะบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรม ต้องเปิดเผยข้อมูลการจัดเก็บสารเคมีทุกชนิดในโรงงานว่ามีสารเคมีอะไรบ้าง เก็บไว้ที่ไหนบ้าง
เมื่อเกิดเหตุก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ทันทีว่ามีสารเคมีอะไรบ้างที่เป็นอันตรายรั่วไหล พื้นที่จัดเก็บอยู่ตรงไหน ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดแผนในการเผชิญเหตุของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้ปลอดภัยด้วย
ขอขอบคุณ : ภาพเหตุการณ์จากกลุ่มอาสาสมัครใจถึงใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน