xs
xsm
sm
md
lg

กรมโรงงานฯเล็งรื้อกฎหมายคุมเข้มครอบครองวัตถุอันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ เร่งติดตามแก้ปัญหาเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ ผ่อนปรน ปชช. บริเวณโดยรอบ 2-5 กม. กลับเข้าพื้นที่ได้ นายกฯ สั่งเฝ้าระวังป้องกันเหตุเพลิงไหม้ซ้ำ เร่งให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ - เสียหาย ตามสิทธิ์เต็มที่ “วราวุธ” ส่งกรมน้ำบาดาล-นักวิทย์-นักเคมี-นักธรณี ตรวจสารตกค้าง “สุริยะ”สั่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทบทวนกม. ใหม่ สต็อกวัตถุอันตรายต้องไม่เกินจำเป็นหวั่นซ้ำรอย "หมิงตี้" กรอ.เด้งรับร่างยใหม่เสร็จสิ้นปีนี้ กำหนดให้โรงงานต้องรายงาน หากครอบครองวัตถุดิบอันตรายที่ซื้อจากในประเทศเกินกว่า 50 กิโลกรัม

จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมีระเบิดภายในบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยแรงอัดทำให้บ้านเรือนและโรงงานที่อยู่โดยรอบรัศมี 500 เมตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก ผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 400 ราย และเสียชีวิต 1 รายนั้น

วานนี้ (7 ก.ค.) ฎาคม ที่มูลนิธิร่วมกตัญญู สำนักงานบางพลี สมุทรปราการ นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ, นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าเหตุการณ์ดังกล่าว

นายวันชัย เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือร่วมกันหลายฝ่าย ตอนนี้พบปัญหา 2 ส่วน คือ สารเคมีที่อยู่ในพื้นที่ที่ไหลออกมาจากตัวถัง ขนาดบรรจุ 2,000 ตัน ก่อนเกิดเหตุมีสารสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer) บรรจุอยู่ 1,600 ตัน ปัจจุบันไหลออกมาเป็นเชื้อเพลิง และเผาไหม้ไปแล้ว ทำให้ไม่ทราบปริมาณที่คงเหลืออยู่ในถัง โดยที่ประชุมได้แยกการดำเนินการออกเป็น 2 ชุด คือ 1.จัดการสารเคมีที่อยู่ในที่เกิดเหตุ บริเวณภาคพื้น และ 2.การจัดการสารเคมีที่อยู่ในถัง

สำหรับพี่น้องประชาชนที่ห่วงใยในการกลับเข้าที่พัก เราตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ สารเคมี พร้อมด้วยโครงสร้างต่างๆ โดยสรุปคือ ประมาณเวลา 17.00 น. ของวันที่ 7 ก.ค. จะให้พี่น้องที่อยู่ในระยะตั้งแต่มากกว่า 1 กิโลเมตร (กม.) คือ 2-5 กม.กลับบ้านได้ ตอนนี้อยู่ระหว่างการทำงานของเจ้าหน้าที่ ยังไม่สะดวก ส่วนถนนกิ่งแก้วเปิด 17.00 น.เช่นกัน

พล.ต.ต.ชุมพล ระบุเพิ่มเติมว่า ถนนกิ่งแก้ว ด้านตะวันตก ตั้งแต่ซอย 19 ถึงซอย 25 คือพื้นที่ควบคุม ไม่อนุญาตให้เข้าไปในซอย ส่วนถนนกิ่งแก้วอื่นๆ เปิดการจราจรปกติ อย่างไรก็ตาม นอกจากพื้นที่ที่กำหนดนี้ ประชาชนสามารถใช้ชีวิต หรือประกอบธุรกิจได้ปกติ

ส่วนราชการเร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกส่วนราชการได้เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโรงงานหมิงตี้ เคมิคอล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ระเบิด ตามบัญชา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่งนายกฯ ยังได้สั่งการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงการเฝ้าระวังในพื้นที่อีกระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ไม่ให้เกิดซ้ำ พร้อมยืนยันจะให้การดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและความเสียหายตามสิทธิ รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งค้นหาสาเหตุ เพื่อป้องกันไม่ได้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคต

“หลังจากนี้ จังหวัดสมุทรปราการ จะร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสำรวจความเสียหายและผลกระทบกับประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ บ้านเรือน และทรัพย์สินเสียหาย เพื่อให้การเยียวยาตามระเบียบหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินต่อไป” น.ส.รัชดา กล่าว

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในส่วนของทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้หารือกับบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NPC ว่าจะสามารถใช้ ออร์แกนิกเปอร์ออกไซด์ ฉีดลงไปยังจุดที่มีสารสไตรีน เพื่อให้แข็งตัวติดไฟยากขึ้น ควบคุมเชื้อเพลิงได้ง่ายขึ้น ไม่ให้เกิดปะทุขึ้นมาใหม่

นอกจากนี้ได้ให้กรมควบคุมมลพิษ เข้าประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับการเกิดมลภาวะอย่างไร โดยมีการเก็บตัวอย่างน้ำไปสำรวจ ทั้งเรื่องคราบน้ำมัน สารตกค้าง สารระเหย รวมถึงให้ตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยรอบพื้นที่ ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งสำรวจคุณภาพน้ำทั้งบนผิวดิน และใต้ดินโดยมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักเคมีและนักธรณี ประชุมหารือร่วมกัน เพื่อดูในรัศมี ตั้งแต่ 0-12 กม.

สุริยะสั่งกรอ.รื้อกม.ดูแลวัตถุอันตราย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ทบทวนมาตรการความปลอดภัยของการประกอบกิจการโรงงานใหม่ทั้งหมดว่า มีจุดใดต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคลอบคลุมโรงงานทุกประเทศทั้ง 64,038 แห่ง โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายในการประกอบกิจการ แล้วตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่มีชุมชนล้อมรอบเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำรอยกรณีไฟไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด

“ จะต้องปรับใหม่ให้สอดรับกับปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนไป การจัดเก็บสต็อกสารเคมีต้องมีปริมาณเหมาะสมไม่ควรจัดเก็บสต็อคมากเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง ส่วนสต็อคที่เหลือ ให้ย้ายไปจัดเก็บในพื้นที่โรงงาน ที่ห่างไกลชุมชน มีระบบป้องกันความปลอดภัย มีพื้นที่กันชน (บับเบิ้ลโซน) เอาไว้ป้องกันหากเกิดอุบัติเหตุ หรือปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม”นายสุริยะกล่าว

พร้อมกันนี้ให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการย้ายโรงงาน ที่ประกอบกิจการที่มีสารอันตรายออกนอกพื้นที่ชุมชน แม้โรงงานจะตั้งมาก่อนที่ชุมชนจะเข้ามาก็ตาม ซึ่งอาจจะหามาตรการส่งเสริมให้โรงงานดังกล่าวย้ายออกมาจากบริเวณชุมชน เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือว่ามาตรการอื่นๆหากจะต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ก็จะได้มีการหารือเพื่อเร่งดำเนินการในระยะต่อไป

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ขณะนี้กรอ.อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายฉบับใหม่ ภายใต้พ.ร.บ.โรงงาน ที่จะกำหนดให้โรงงานที่มีการครอบครองวัตถุดิบอันตรายที่ซื้อจากในประเทศเกินกว่า 50 กิโลกรัม(กก.) จะต้องรายงานปริมาณการใช้สารเคมีทุกชนิด ให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิต การจัดเก็บ ระบบความปลอดภัยและความเสี่ยงต่อกรอ. จากเดิมกรอ.อยู่ระหว่างร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้แล้ว คาดว่า จะเสร็จสิ้นปี โดยระหว่างรอการร่างกฎหมายฉบับใหม่แล้วเสร็จ กรอ.จะเข้าไปตรวจเข้มข้นมากยิ่งขึ้น และจะนำมาตรการความปลอดภัยของโรงงานขึ้นมาพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์อีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น