รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ รง.เคมีระเบิด ชี้หน้ากากอนามัยป้องกันควันพิษไม่ได้ อาจส่งผลในระยะยาวกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เกิดการปนเปื้อนทั้งต้นไม้ แหล่งน้ำผิวดิน และไหลซึมลงแหล่งน้ำใต้ดินได้ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวางแผนการบริหารจัดการไม่ให้ส่งผลกระทบในระยะยาว รวมถึงต้องมีแผนการบริหารจัดการกู้คืนสถานการณ์ในระยะยาว
จากเหตุการณ์ถังเก็บสารเคมีระเบิดภายในบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ตั้งอยู่เลขที่ 87 หมู่ 15 ซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเวลาประมาณ 03.30 น. แรงอัดทำให้บ้านเรือนและโรงงานที่อยู่โดยรอบรัศมี 500 เมตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีความอันตรายตามมาคือ สารสไตรีนโมโนเมอร์ ที่มากับควันไฟ ให้เลี่ยงการสูดดมเนื่องจากเป็นอันตรายต่อร่างกาย และเป็นสารก่อมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (7 ก.ค.) รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษา และวิเคราะห์เชิงระบบของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีผลต่อการหนุนเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงการระเบิดรุนแรงภายในบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ย่านกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ
ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้นของประเทศจีนที่เข้ามาก่อตั้งในประเทศไทยนานกว่า 30 ปี เมื่อกลางดึกวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็วขยายวงกว้าง ทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนผู้ที่อยู่อาศัยในรัศมี 5 กิโลเมตรออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากสารเคมี ว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าตกใจมากและจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันสารเคมีอันตรายและมาตรการฉุกเฉินในระยะยาว
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ตามข้อมูลพื้นฐาน สามารถสรุปสถานการณ์เพื่อป้องกันเบื้องต้นได้ว่าสถานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานผลิตโฟมพลาสติกประเภทสไตรีน โดยสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิต คือ สไตรีนโมโนเมอร์ โมโนเมอร์เป็นชื่อเรียกของสารตั้งต้นโมเลกุลเล็กที่นำมาใช้สังเคราะห์ต่อเนื่องให้เป็นโมเลกุลใหญ่ขึ้นจนได้เป็นพอลิเมอร์หรือพลาสติก สารสไตรีนมีโครงสร้างหลักของโมเลกุลเป็นตัวเบนซีน ซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอนประเภทวงแหวน 6 เหลี่ยม จัดเป็นสารก่อมะเร็ง และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ซึ่งตามข้อกำหนดแล้วต้องมีเฉลี่ยในชั้นบรรยากาศได้ไม่เกิน 1.7 ไมโครกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่าเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมงไม่เกิน 7.6 ไมโครกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร
เมื่อเกิดระเบิดแล้วมีการเผาไหม้ สารเคมีเหล่านี้จึงเกิดการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ สังเกตได้จากควันไฟสีดำและสีเทา โดยการเผาไหม้ของไฮโดรคาร์บอนทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งปนกับสารที่เป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย เมื่อสูดดมเข้าไปจะหมดสติ วิงเวียนศีรษะ และหากสูดดมสไตรีนกับเบนซีนจะเกิดการระคายเคืองระบบหายใจ และก่อมะเร็ง
สิ่งกังวลผลกระทบระยะสั้นที่เห็นชัดเจน คือการสูดดมเป็นปัญหา หน้ากากอนามัยที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ไม่สามารถป้องกันได้เพราะเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย ต้องอาศัยหน้ากากที่ป้องกันสารอินทรีย์ แต่จะปกคลุมอยู่นานแค่ไหนก็ต้องอาศัยโชคช่วยในเรื่องของลม ความชื้น และฝน หากฝนตกก็จะช่วยให้ลดในส่วนของควันก๊าซ แต่ก็จะส่งผลต่อในระยะยาว กล่าวคือ หากสัมผัสกับความชื้นในอากาศ หรือมีฝนตก ก๊าซที่ลอยอยู่ในอากาศและสารตกค้างเหล่านี้จะตกลงสู่พื้นดินกระจายวงกว้างและส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เกิดการปนเปื้อนทั้งต้นไม้ แหล่งน้ำผิวดิน และไหลซึมลงแหล่งน้ำใต้ดินได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวางแผนการบริหารจัดการไม่ให้ส่งผลกระทบในระยะยาว รวมถึงต้องมีแผนการบริหารจัดการกู้คืนสถานการณ์ในระยะยาว
จากเหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) กระทรวงแรงงาน (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) หน่วยงานท้องถิ่น เป็นต้น จะต้องกลับมาตั้งวงคุยกันถึงมาตรการการป้องกันโดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีการเก็บสารเคมีไวไฟและเป็นอันตรายไว้จำนวนมาก ทั้งมาตรการความปลอดภัยในการจัดเก็บ มาตรการฉุกเฉินที่ไม่เฉพาะภายในโรงงานแต่ต้องครอบคลุมถึงชุมชนโดยรอบอย่างเคร่งครัดและจริงจัง การซ้อมแผนอพยพชุมชน และอื่นๆ อีกมากมาย