บ้านปู เดินหน้ารุกธุรกิจพลังงานสะอาดทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม โครงการปั๊มไฮโดร เอนเนอร์ยี สตอเรจ และก๊าซเหลือทิ้งในเหมืองถ่านหิน รวมทั้งศึกษาทำเหมืองแร่นิกเกิลเพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจแบตเตอรี่ในออสเตรเลีย ตั้งเป้าปี 68 สัดส่วนธุรกิจพลังงานสะอาดพุ่งเกิน 50%
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทมองเห็นโอกาสการลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยประกาศว่าจะเป็น CARBON NEUTRAL ในอีก 30 ปีข้างหน้า ทำให้การใช้ถ่านหินมีแนวโน้มลดลงในอนาคต
ทั้งนี้ บ้านปูได้จัดตั้ง บริษัท Banpu Energy Australia เพื่อดำเนินงาน โดยจะมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ โครงการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโซลูชันด้านพลังงาน และการบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด โดยล่าสุดได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl หรือ BSF) กำลังการผลิต 110.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มานิลดรา (Manildra หรือ MSF) กำลังการผลิต 55.9 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์
นางสมฤดีกล่าวต่อไปว่า บ้านปูยังได้รับเงินสนับสนุนจำนวนหนึ่งจากสำนักงานพลังงานทดแทนแห่งออสเตรเลีย (ARENA) และรัฐบาลของรัฐนิวเซาท์เวลส์ในการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการปั๊มไฮโดร เอนเนอร์ยี สตอเรจ (Pump Hydro Energy Storage Project) ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีและการวิจัยชั้นนำของโลก ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำที่สามารถกักเก็บไว้ที่เหมืองใต้ดินในบริเวณที่ทำเหมืองเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำ จ่ายให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568
นอกจากนี้ บริษัทยังให้เหมืองถ่านหินต่างๆ ของบ้านปูลงทุนผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยนำก๊าซจากเหมืองใต้ดินที่เดิมเคยปล่อยทิ้งนำมาผลิตไฟฟ้า (Waste Gas Energy) เพื่อใช้ภายในเหมืองถ่านหิน และไฟฟ้าที่เหลือก็ขายเข้าระบบตลาดไฟฟ้าในออสเตรเลียด้วย ช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งลงทุนโซลาร์ฟาร์มและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในพื้นที่เหมืองถ่านหินด้วย
ขณะเดียวกัน บ้านปูยังสนใจศึกษาธุรกิจเหมืองแร่ที่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Tech Minerals) ที่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานการผลิตเหมืองถ่านหินอยู่แล้ว และออสเตรเลียก็ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสินแร่แห่งอนาคตอยู่มากเช่นเดียวกัน โดยเบื้องต้นสนใจแร่นิกเกิลมาใช้ผลิตแบตเตอรี่ เบื้องต้นเป็นการลงทุนขนาดไม่ใหญ่
บ้านปูตั้งเป้าในปี 2568 สัดส่วนพลังงานสะอาดเพิ่มสูงกว่า 50% มาจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐอเมริกา โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ถ่านหินจะมีสัดส่วนลดลง โดยบ้านปูไม่มีแผนใส่เงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเหมืองถ่านหินเพิ่มเติม
นางสมฤดีกล่าวว่า การเพิ่มทุนจดทะเบียนจํานวน 5,074,581,516 บาท เป็น 10,149,163,031 บาท เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น และเพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยไม่คิดมูลค่า จำนวน 3 ชุด คาดว่าจะได้รับเงินรวมประมาณ 31,716 ล้านบาทนั้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและทำให้บริษัทมีฐานะการเงินแข็งแกร่งเพื่อพร้อมลงทุนในพลังงานสะอาดตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านพลังงานที่สนับสนุนภารกิจในการส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน โดยบริษัทไม่มีแผนลงทุนธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติม แต่มุ่งเน้นลงทุนธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจรทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก๊าซฯ ฯลฯ
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ในเดือนสิงหาคม วงเงิน 7,000-10,000 ล้านบาท อายุหุ้นกู้ 3 ปี, 5 ปี, 7 ปี และ 10 ปี เพื่อคืนหนี้ที่ครบกำหนดชำระ