“ศักดิ์สยาม” เร่งผลักดันจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติภายใน 1 ปี ตั้ง “รมช.อธิรัฐ” เป็นประธานคณะทำงานฯ สั่ง กทท.ศึกษาแนวทางรูปแบบทำ Action Plan เสนอ ครม. เล็งโมเดลร่วมทุนเอกชนรัฐถือหุ้นบุริมสิทธิเพื่อความคล่องตัว ชี้ฟื้นกองเรือไทย ลดพึ่งเรือต่างชาติลดขาดดุล
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings ว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคมจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติเพื่อพัฒนาการขนส่งทางทะเลของไทยให้มีประสิทธิภาพนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกเร่งรัดการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติให้สำเร็จโดยเร็ว และได้มีนโยบายที่จะให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้นใหม่
ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ วันที่ 30 มิ.ย. ได้พิจารณากรอบแนวทางในการดำเนินงานจัดตั้ง และทางเลือกรูปแบบการดำเนินงาน รวมทั้งเห็นชอบแผนการดำเนินงาน (Action Plan) เพื่อเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
โดยได้มอบหมายให้การท่าเรือฯ ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และนำเสนอผลการศึกษาให้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ พิจารณาก่อนนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ จำกัด โดยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล แนวทางและรูปแบบการจัดตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ จำกัด ที่มีความเหมาะสม รวมทั้งประเด็นข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติภายใน 1 เดือน และได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมร่วมกับการท่าเรือฯ และกรมเจ้าท่า เชิญสถาบันการศึกษาเพื่อหารือเกี่ยวกับความพร้อมในการจัดเตรียมบุคลากรด้านพาณิชยนาวีสำหรับรองรับจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ
นอกจากนี้ ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการ 4 เรื่อง คือ จัดตั้งคณะอนุกรรมการในแต่ละด้านเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ, ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนและการถือหุ้นของบริษัทเดินเรือในประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางและรูปแบบการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ, ศึกษาแนวทางการกำหนดสิทธิประโยชน์ และการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนและจดทะเบียนเรือในประเทศไทย, ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในรูปแบบการดำเนินงานของ บริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ จำกัด ในกรณีที่รัฐบาลถือหุ้นบุริมสิทธิ เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงานและมีอำนาจในการตัดสินใจ
“เดิมไทยเคยมีบริษัทเดินเรือทะเลไท (บทด.) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น จะต้องเร่งศึกษาพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้ โดยเห็นว่ารูปแบบการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้มีผลดำเนินงานที่มีกำไรและมีประสิทธิภาพ มากกว่าการที่รัฐจะดำเนินการเองทั้งหมด ขณะที่ในการตั้งสายการเดินแรือแห่งชาติของไทยนั้นจะมี 3 สาย คือ 1. สายการเดินเรือในประเทศ บริการในอ่าวไทย 2. สายการเดินเรือฝั่งตะวันออก 3. สายการเดินเรือฝั่งตะวันตก หากดำเนินการได้ตามแผนเชื่อว่าประเทศไทยมีอนาคตที่จะเป็นศูนย์กลางแน่นอน” นายศักดิ์สยามกล่าว
เนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน กองเรือพาณิชย์ของไทยที่ทำการขนส่งสินค้าทางทะเลมีขนาดเล็ก มีระวางบรรทุกน้อย ไม่สามารถขนส่งระยะไกล เรือสินค้าไทยมีสัดส่วนในการขนส่งสินค้าเข้า-ออกจากประเทศเพียง 9% และไทยต้องพึ่งพาเรือสินค้าต่างชาติถึง 91% ทำให้ไทยขาดดุลค่าระวางขนส่งสินค้าสูงถึงประมาณ 90% คิดเป็นเงินประมาณ 1.33 ล้านล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อกระทรวงคมนาคมมีแผนการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ ความเป็นศูนย์กลาง การเป็นทางผ่านของการขนส่งระหว่างภูมิภาคของโลก ย่อมเป็นความได้เปรียบและเป็นโอกาส และการผลักดันการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติจะช่วยให้ไทยลดการพึ่งพาเรือต่างชาติ ลดต้นทุนการขนส่ง ลดการขาดดุลค่าระวาง และเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับเรือไทย ตลอดจนช่วยให้มีการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้คุ้มค่า การขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกทางทะเลจะมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น