“ศักดิ์สยาม”โหมลงทุน”คมนาคม”ทุกมิติ ไม่หวั่นปี 65 มีงบแค่ 1.1 แสนล้านบาทลุยเปิด PPPดึงเอกชนร่วมทุน MR-MAP นำร่องเส้นทางแลนด์บริดจ์ ขยายสุวรรณภูมิรับนักท่องเที่ยวเพิ่ม จ่อตั้ง3 บริษัท สายเดินเรือแห่งชาติ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการปาญกถาพิเศษ “Empowering Thailand 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน“ ว่า จากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ทั่วโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3.3% ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้ประเมินเศรษฐกิจของไทยปี 2564 ขยายตัว 2.5-3.5% หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ซึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากการท่องเที่ยว การส่งออกแล้ว เรื่องการลงทุนเป็นอีกเครื่องมือสำคัญของรัฐ
ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีหน้าที่ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยปี2564 ได้รับงบลงทุน 1.8 แสนล้านบาท โดยเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 50% หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ส่วนงบลงทุน ปี 2565 ที่อยู่ระหว่างพิจารณา มีจำนวน 1.1 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 64 แต่ไม่ต้องกังวล โดยจะใช้แหล่งเงินทุนทั้งจากการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) การระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Thailand Future Fund) แหล่งเงินกู้จากสำนักบริหารหนี้ที่จะเข้ามาเติมเต็มงบลงทุนที่ลดลง 7 หมื่นล้านบาท
โดย ยืนยันที่จะเดินหน้าแผนขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์การการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านที่ตั้งของประเทศอยู่ศูนย์กลางอาเซียน และเป็นประตูเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก หรือทิศเหนือไปทางใต้ จึงต้องมีการพิจารรณาการลงทุนทุกมิติ ได้แก่
1.ทางบกที่จะสร้างความสะดวก ปลอดภัย 2 .ระบบรางถือว่าเป็นระบบที่จะเป็นอนาคตสำคัญในการลดต้นทุนโลจิตสติกส์ของประเทศได้ 3.ทางอากาศ ซึ่งขณะนี้มีความสำคัญมาก กับนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินำร่อง ในวันที่ 1 ก.ค. ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้มีสายการบิน จอง slot หรือตารางการบินแล้ว 80-90%
และ 4.ทางน้ำ ซึ่งศักยภาพของระบบขนส่งทางน้ำจะสมบูรณ์ได้ จะต้องเชื่อมต่อฝั่งมหาสมุทรอินเดีย-อ่าวไทย ด้วยโครงการแลนด์บริดจ์ โดยมีท่าเรือน้ำลึกระนองและชุมพร และ ก่อสร้างรถไฟทางคู่ กับมอเตอร์เวย์ เชื่อมระหว่างท่าเรือ โดยเลือกแนวเส้นทางที่ตัดตรง และสั้นที่สุดเพื่อให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำที่สุด ผู้ขนส่งสินค้าจะได้รับความสะดวกรวดเร็วและสะดวก
รถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ในโครงการแลนดจ์บริดจ์ จะสนับสนุนพื้นที่อีอีซี.ในการเชื่อมการขนส่งจากอีอีซีไปยังฝั่งอันดามันสั้นยิ่งขึ้น โดยได้เป็นการบูรณาการระบบรางและถนนในแผนแม่บท MR-MAP ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา โดยจะเป็น 3 เส้นทาง แนวเหนือ-ใต้ จากเชียงราย-สงขลา ,หนองคาย-แหลมฉบัง ,จ.บึงกาฬ - สุรินทร์ ส่วนแนวเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง ตาก-นครพนม, กาญจนบุรี-อุบลราชธานี, กาญจนบุรี-สระแก้ว ,กาญจนบุรี-ตราด ,ชุมพร-ระนอง,ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางเดินทางในภูมิภาค
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การศึกษาและเวนคืนโครงการใน MR-MAP จะใช้งบประมาณของรัฐ ส่วนการก่อสร้าง บำรุงรักษา จะเปิดPPP ให้เอกชนเข้ามาลงทุน ไทยและต่างชาติโดยจะเริ่มลงทุนเส้นทาง แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนองก่อน เส้นที่2 คือ กาญจนบุรี-อุบลราชธานี 3. หนองคาย-แหลมฉบัง 4. วงแหวนรอบกรุงเทพฯ วงที่3 โดยจะสรุปรายละเอียดในปี65
@ลุยขยายสุวรรณภูมิรับนักท่องเที่ยวฟื้นหลังเปิดประเทศ
ส่วน ทางอากาศมีความสำคัญ เนื่องจากรองรับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายหลักของประเทศมีการเดินทางผ่านสนามบินถึง 90% โดยมีสนามบินนานาชาติ 6 แห่ง ของ บริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือทอท. ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ ศักยภาพรองรับไม่เพียงพอ การจะเปิดประเทศ จะต้องสร้าง gateway อย่างไร ซึ่งปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารเกินขีดความสามารถ จำเป็นต้องก่อสร้างรันเวย์ที่3 และขยายอาคารผู้โดยสาร ด้านเหนือ,ด้านตะวันออกและตะวันตก รองรับเพิ่มเป็น 90 ล้านคน/ปี ส่วนสนามบินดอนเมือง จะลงทุนขยาย เป็น 40 ล้านคน/ปี รวมกับ สนามบินอู่ตะเภาอีก 60 ล้านคน/ปี คาดว่าในอนาคตไทยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน ซึ่งมากกว่าปัจจุบัน 2-3 เท่า และจะส่งผลให้มีรายได้จากการท่อเที่ยวเพิ่มขึ้นไปด้วย
สำหรับระบบทางราง มีเป้าหมายในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ จะมีการลงทุนรถไฟทางคู่ ทั่วประเทศ มีเป้าหมายจะผลักดันให้มีการขนส่งทางรางเพิ่มเป็น 30% และเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑลมีทั้งสิ้น 14 เส้นทาง จะแล้วเสร็จครบในปี 2570 ระยะทาง 554 กม.ตอบโจทย์การแก้ปัญหาจราจร และลดมลภาวะ PM 2.5 โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าให้บริการได้แก่ สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และสายสีแดงจะเปิดบริการปลายปี 64 นอกจากนี้ในหัวเมืองขนาดใหญ่ มีแผนจะสร้างรถไฟรางเบา เช่น พิษณุโลก ภูเก็ต เชียงใหม่ อุดร นครราชสีมา ส่วนรถไฟความเร็วสูง มีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน และ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
@ ปัดฝุ่นสายเดินเรือแห่งชาติ แยก ตั้ง3 บริษัท ให้เอกชนร่วมทุน
ส่วนทางน้ำ มีการพัฒนาท่าเรือต่างๆ ไว้จำนวนมาก แต่ขาดสร้างสายเดินเรือ จึงได้ให้กรมเจ้าท่า (จท.)การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยดูต้นแบบจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น บมจ.ปตท. (PTT) หรือทอท. ที่ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเพื่อให้มีผลกำไรและมีประสิทธิภาพการดำเนินการ ซึ่งในการตั้งสายการเดินแรือแห่งชาติของไทย จะมี 3 สาย คือ 1. สายการเดินเรือในประเทศ 2.สายการเดินเรือฝั่งตะวันออก 3.สายการเดินเรือฝั่งตะวันตก หาก ดำเนินการได้ตามแผน เชื่อว่าประเทศไทยมีอนาคคตที่จะเป็นศูนย์กลางแน่นอน